- • แก้ปัญหา รถเมล์เถื่อน: สุรพงษ์ สั่งเพิ่มรถและความถี่ รถเมล์เอกชน แก้ปัญหาจำนวนรถน้อย คอยนาน
- • บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ: มอบหมาย ขบ. ศึกษาการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขึ้นรถเอกชนได้
- • ปรับโครงสร้างค่าโดยสาร: ต้องศึกษาปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ รองรับปี 68 ที่จะไม่มีรถเมล์ร้อน
- • ค่าโดยสารรถแอร์: รถเมล์แอร์เก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท
“สุรพงษ์”สางปัญหารถเมล์เถื่อนวิ่งทับสัมปทานเอกชนสั่งเพิ่มรถ ความถี่ แก้รถน้อยคอยนาน มอบขบ.หาทางให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นรถเอกชนได้ และต้องศึกษาปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ รองรับปี 68 ที่จะไม่มีรถเมล์ร้อน ชี้รถแอร์เก็บเริ่มต้น 15 บาทยังแพงเกินไป ด้าน TSB ขานรับปรับระบบรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการรถโดยสารสาธารณะว่า ขณะนี้พบปัญหาระบบรถเมล์โดยสาร เช่น ปัญหารถเถื่อนไม่มีใบอนุญาตลักลอบวิ่งให้บริการทับเส้นทางของเอกชนซึ่งล่าสุดคือ รถเมล์สาย 8 ที่เป็นรถร่วมบริการเอกชนรายเดิม ใช้รถร้อนบริการแต่หมดสัญญาแล้วมาวิ่งทับกับผู้ได้รับใบอนุญาตรายใหม่ คือ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด (TSB)ให้บริการประชาชนในเส้นทางสาย 2-38 แฮปปี้แลนด์ - ท่าเรือสะพานพุทธ ซึ่ง ข้อเท็จจริง ขสมก.ในฐานะเจ้าของสัมปทานเดิมที่ให้เอกชนเข้าร่วมวิ่งได้แจ้งยกเลิกและคืนใบอนุญาตให้ ขบ.ตั้งแต่ ม.ค. 2567
โดยขบ. ได้ตั้งจุดตรวจการขนส่งเพื่อกวดขันปราบปรามรถโดยสารประจำทางสายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ผลปรากฏว่าปัจจุบันไม่มีรถโดยสารประจำทาง สาย 8 วิ่งให้บริการแล้ว และได้กำชับให้ ขบ. ตรวจสอบการให้บริการการเดินรถต่อเนื่องอย่างเข้มงวด การนำรถมาวิ่งจึงถือว่าเป็นรถเถื่อน หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะมีปัญหาได้ เพราะรถเหล่านี้ไม่ได้ตรวจสภาพ ไม่มีระบบความปลอดภัย ไม่มีประกันภัย จึงกำชับกับหน่วยงานกำกับดูแลว่า ต้องไม่มีรถเถื่อนเหล่านี้ หากพบเจอต้องรีบแจ้ง ขบ.ทันที
สำหรับบริษัทไทยสมายล์บัส (TSB) เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจาก ขบ. ตามใบอนุญาตประกอบการขนส่งเลขที่ 5/2565 สิ้นอายุวันที่ 4 เมษายน 2572 รถโดยสารประจำทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง สาย 2-38 แฮปปี้แลนด์ - ท่าเรือสะพานพุทธ โดยมีเงื่อนไขจำนวนเที่ยวการเดินรถขั้นต่ำ 80 เที่ยว/วัน จำนวนรถ 19 - 54 คัน จัดการเดินรถจริง จำนวน 318 เที่ยว/วัน ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 22,000 คน/วัน ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนจำนวนเที่ยว/วัน กับปริมาณผู้โดยสาร/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 70 คน/เที่ยว ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยรถของTSBสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียง 50 คน/เที่ยว เท่านั้น
ซึ่งกรณีรถน้อยคอยนาน ได้ให้นำสถิติผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้กลับสู่ปกติแล้วหลังจากเกิดโควิด -19 ดังนั้นต้องจัดเที่ยววิ่งและจำนวนรถให้สอดคล้องซึ่งมอบให้ขบ.ศึกษาเส้นทางทั้งหมดและออกมาตรการจำนวนรถขั้นต่ำใหม่ เพราะตอนนี้ วิ่งให้บริการมากกว่าขั้นต่ำแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ขณะที่บางเส้นทางกำหนดขั้นต่ำไว้สูงกว่าจำนวนผู้โดยสาร
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตามนโยบายจะลดจำนวนรถเมล์ร้อน และเปลี่ยนเป็นรถเมล์ปรับอากาศ (รถแอร์) ทั้งหมด ซึ่งภายในปี 2568 คาดหวังว่ารถร้อนจะหายไปจากถนน ตามการศึกษาต้นทุนของรถร้อนและรถแอร์ไม่ได้ต่างกัน แต่รถเมล์แอร์ใหม่ มีการจัดเก็บค่าโดยสารที่ 15,20,25 บาท ซึ่งค่อนข้างสูงไป จึงมอบหมายให้ ขบ.ไปศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถเมล์ที่เหมาะสมใหม่ เบื้องต้นต้นทุนเฉลี่ยรถแอร์ของเอกชนอยู่ที่ประมาณ 18 บาทต่อคน
นอกจากนี้ ยังต้องการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถเข้าใช้บริการรถเมล์ของเอกชนได้ด้วยเช่นเดียวกับรถขสมก. จึงได้มอบหมายให้ ขบ. คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง และเอกชนผู้เดินรถ ร่วมกันจัดการระบบเชื่อมต่อเข้ากับระบบของรัฐบาล โดยเฉพาะระบบหลีงบ้านเรื่องการชำระเงิน หรือ เคลียร์ริ่งเฮ้าส์ เพราะเมื่อรัฐต้องจ่ายเงินผ่านกระทรวงการคลังจะต้องมีระบบและไม่เกิดปัญหา สุดท้ายประชาชนต้องได้ประโยชน์ที่สุด
“ไม่มีใครอยากนั่งรถร้อน แต่อยู่ที่ราคา เขาอยากนั่งรถที่ดี และราคาถูกเท่านั้นเอง ซึ่งรัฐต้องดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างเต็มที่แน่นอน"นายสุรพงษ์กล่าว
ด้าน นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด กล่าวว่า TSB พร้อมขานรับนโยบายดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่ในระบบประมาณ 6-7 แสนคน ให้ได้เร็วที่สุด หรือ ไม่เกินต้นปีหน้าก่อนที่จะมีการเปิดทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในรอบถัดไป เพื่อเป็นการลดค่าครองชีพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม