- • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ
- • สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- • บันทึกข้อตกลงนี้มุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ณ อาคารรัตนเกษตร สำนักวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันทนีย์ ผาสุข รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้บริหาร และพนักงานเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง เปิดเผยว่า สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และ ปตท. มีความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนการสอนและงานวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเกษตร มุ่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมขยายผลสู่ชุมชน ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ฉบับที่ 1 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 - 2566 ตลอดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทำให้เกิดการพัฒนาที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาหลักสูตรฝึกประสบการณ์วิชาชีพ “นักเพาะกล้า”การพัฒนาเครื่องมือการประเมินคาร์บอนไดออกไซด์ของพื้นที่สวนยางพาราด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล การวิจัยติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์การเจริญเติบโตและความหลากหลายทางชีวภาพของป่านิเวศป้องกัน การพัฒนาพื้นที่สวนสมรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลสำหรับศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต
ในการนี้ เพื่อต่อยอดความร่วมมือดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และ ปตท. จึงเห็นชอบร่วมกันในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ฉบับที่ 2 โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่างองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ด้วยกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ สนับสนุนเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาศักยภาพบุคลากร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดหาที่ปรึกษาด้านวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ต่อยอดสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”