xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯรฟท.จี้ผู้ว่าฯเร่งทวงคืนที่ดินเขากระโดง-สอบจ้างขนรถไฟญี่ปุ่น รุ่น kiha ผิดเงื่อนไขTOR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • สหภาพฯ รฟท. จี้ผู้ว่าฯ รฟท. เร่งอุทธรณ์ ทวงคืนที่ดินเขากระโดง หลังกรมที่ดินไม่เพิกถอน
  • • สหภาพฯ รฟท. เรียกร้องตรวจสอบ การจ้างขนรถไฟมือสองจากญี่ปุ่น รุ่น kiha 40 และ kiha 48 โดยให้สรุปมาเป็นข้อๆ สั้นๆ ว่าผิด TOR (Technical Operational Requirements) หรือไม่


สหภาพฯรฟท.จี้ผู้ว่าฯรฟท. เร่งอุทธรณ์ ทวงคืนที่ดินเขากระโดง หลังกรมที่ดินไม่เพิกถอน และให้ตรวจสอบ จ้างขนรถไฟมือสองจากญี่ปุ่น รุ่น kiha 40 และ kiha 48 ทำผิดTOR

วันนี้ (11พ.ย.67) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)นำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพฯรฟท. ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการรถไฟฯ โดยมีนางสาวชุติมา วงศ์ศิวะวิลาส ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน เป็นผู้แทนรับหนังสือรถไฟ ฯ โดยขอให้ดำเนินการใน2 ประเด็นคือ

1.ให้รฟท.ดำเนินการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยเร่งด่วน กรณีมติของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำวินิจฉัยไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟฯ เนื่องจากมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟฯ

2.เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการตามสัญญาจ้างขนรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่น kiha 40 และ kiha 48 จำนวน 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีประเด็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตาม TOR ในสัญญาจ้าง


โดยสหภาพฯรฟท. ได้ยื่นหนังสือด่วนมาก ลงวันที่ 11 พ.ย.2567 เรื่อง เสนอให้การรถไฟฯอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยเร่งด่วน กรณีมติของคณะกรรมการสอบสวนตามาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำวินิจฉัยไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการถไฟฯ โดย อ้างถึง 1.คำพิพากษาศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 2494 /2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 และ2.หนังสือที่ มท.0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567

ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494 /2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 พิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน (ตามอ้างถึง 1) ซึ่งกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรรคสอง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รูฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 อธิบดีกรมที่ดินมีหนังสือที่ มท.0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ได้ส่งหนังสือแจ้งว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ (ตามอ้างถึง 2) นั้น โดยมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟฯ ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง

สร.รฟท. ซึ่งมีหน้าที่ตามข้อบังคับของสหภาพฯและวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 40 (4) ให้ความร่วมมือในการสร้างประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ สร.รฟท.ได้มีมติให้ดำเนินการติดตามกระบวนการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการถไฟฯเห็นว่าในกรณีดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842- 876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/ 2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างขัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+ 650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462


เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ไข้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิของการรถไฟฯ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯประกอบข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกา อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งการแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ข.) สำนักงานที่ดินบุรีรัมย์ได้ดำเนินการยกเลิกใบไปไต่สวน พร้อมจำหน่าย ส.ค.1 ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดิน และยกเลิกการขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 40 ฉบับ รวมถึงจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งที่ดินในกระบวนการดังกล่าวทั้งหมดเกิดขึ้นจากการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟฯ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ คณะกรรมการสอบสวนฯควรต้องน้ำไปพิจารณา จากมติคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนฯ ถือเป็นคำลังทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟฯ ในเรื่องของกรรมสิทธิใน ที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟฯบริเวณทางแยกเขากระโดง

ดังนั้น สร.รฟท.จึงขอให้การรถไฟฯดำเนินการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยเร่งด่วนที่สุดกรณีมติของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำวินิจฉัยไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดงซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปกป้องรักษาทรัพย์สินที่ดินของการรถไฟฯไว้ และสืบทอดพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนต่อไป


นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพฯรฟท. กล่าวว่า การที่อธิบดีกรมที่ดิน ได้ชี้แจงมติของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา61 ว่าไม่สามารถเพิกถอนที่ดินบริเวณเขากระโดงของรฟท.ได้ ซึ่งสหภาพฯรฟท.จึงมายื่นหยังสือต่อผู้ว่าฯรฟท.เนื่องจากเห็นว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและคำพิพากษาของศาล และให้รฟท.อุทธรณ์มติของกรมที่ดิน และเร่งดำเนินการนำที่ดินเขากระโดงกลับมาเป็นของรฟท. เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประชาชนต่อไป โดยที่ดินเขากระโดงมีจำนวน 5,083 ไร่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟตามพระบรมราชโองการดังนั้นกรมที่ดินต้องทำหน้าที่ตามกฏหมายและให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกา


กำลังโหลดความคิดเห็น