หลังจากที่ คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565 ให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้า เอส ยู ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) จำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท ซึ่งต่อมารฟท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ร้อง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านที่ 1 และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านที่ 2 คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา) คำร้องที่ 927/2567 คำสั่งที่ 1076/2567 คดีถึงที่สุดแล้ว โดยมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำอุทธรณ์ของรฟท.ไว้พิจารณา และแจ้งผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและส่งเอกสารคืน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่24 ต.ค. 2567 ซึ่งถือเป็นที่สิ้นสุดในคดีพิพาท ค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ในงานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม (Variation order - VO)
แหล่งข่าวจาก รฟท.ระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.รวมถึง นายวีริศ อมระปาล ผู้ว่าฯรฟท.รับทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาล ซึ่งยอมรับว่า คดีข้อพิพาทนี้ รฟท.ได้ต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม และถือว่ารฟท.เดินมาสุดทางแล้ว โดยเมื่อศาลมีคำสั่งก็ต้องปฎิบัติตาม ซึ่งเรื่องนี้รฟท. จะต้องสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องรายงานบอร์ดรฟท. และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
ในส่วนที่ให้ รฟท.ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้า เอส ยู นั้น หากเป็นส่วนที่เกินกรอบวงเงินจะต้องเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ต่อไป
@โยน ผู้ว่าฯรฟท.หาคนออกคำสั่งทำงานเพิ่มเติมเกินอำนาจ
แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า สำหรับกรณีเรื่องวิศวกรที่ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน หรือ VO นั้น เนื่องจากศาลไม่ได้มีคำสั่งใดๆ จึงเป็นเรื่องภายในของรฟท. ที่ผู้ว่าฯรฟท.ต้องไปตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคม เคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 14 คน โดยมี "สรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์" รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านขนส่ง) เป็นประธาน “พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นรองประธานฯ มีความเห็นว่า มีงาน VO จำนวน 2-3 รายการจากทั้งหมด ที่มีจำนวน 194 รายการ ที่อาจจะขัดวัตถุประสงค์และต้องมีขั้นตอนที่รฟท.จะต้องตรวจสอบ
ดังนั้น ก่อนเสนอขอครม.เพื่อชำระค่างาน VO รถไฟสายสีแดง ตามคำสั่งศาลนั้น รฟท.จะต้องตรวจสอบทุกรายการ ว่ามีความชัดเจนเหมาะสม ส่วนประเด็นที่ยังมีความไม่ชัดเจน เช่น อาจจะไม่เหมาะสมและขัดต่อวัตถุประสงค์หรือไม่ ก็แยกไว้เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯรฟท. ซึ่งจะไปรวมไปถึงการพิจารณาเรื่องบุคคลที่ออกคำสั่งว่าปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่หรือไม่
สำหรับโครงการรถไฟสายสีแดง มี 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 1 (งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) รฟท. ลงนามสัญญา กิจการร่วมค้า เอส ยู เป็นผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2556 ในวงเงินสัญญา 29,826,973,512 บาท
สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต) รฟท.ลงนามสัญญา บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ( ITD) เป็นผู้รับจ้างงาน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556 ในวงเงินสัญญา 21,235,400,000 บาท
สัญญา 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) รฟท.ลงนามสัญญา กิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation เป็นผู้รับจ้าง วันที่ 30 มี.ค. 2559 วงเงินสัญญา 32,399,99 ล้านบาท
@ดื้อสู้ ... หวังพลิกคดี
คดีผู้รับเหมาทวงยื่นฟ้องทวงค่าก่อสร้างงานเพิ่มเติมหรือ VO รถไฟสายสีแดง ค้างคามาตั้งแต่ปี 2564 แม้การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและมีการเปิดให้บริการเดินรถไฟสายสีแดง ไปตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 โดย สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งผลคดีชั้นอนุญาโตตุลาการมายัง รฟท.วันที่ 29 ธ.ค. 2565 หลังพิจารณาแล้วเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และไม่ปรากฏเหตุอื่นว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40
ซึ่งช่วงที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินัจฉัยให้รฟท.ชำระค่างาน VO นั้น มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย เพื่อพิจารณาข้อมูลและกรอบแนวทางการต่อสู้ข้อพิพาทเพื่อให้มีความครบถ้วนมากที่สุด ได้แก่ 1. งานเพิ่มเติมหรือ VO ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบพัสดุฯ ถูกต้องหรือไม่ 2. BOQ งานที่เพิ่มเติมหรือ VO ถูกต้องหรือไม่ 3. ได้มีการดำเนินการงานดังกล่าวจริงหรือไม่
@ค่าก่อสร้างบานไม่หยุด ทั้งโครงการทะลุ 9.84 หมื่นล้าน
ล่าสุดในการประชุมบอร์ดรฟท.ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 มีมติอนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน งานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อันเนื่องมาจากปัญหาอุปสรรค ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง จำนวน 938 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 847,746,729.42 บาท
พร้อมทั้งอนุมัติในการปรับกรอบวงเงินโครงการรถไฟสายสีแดง เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างงาน สัญญาที่ 1, สัญญาที่ 2, สัญญาที่ 3 รวมกันคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,613,824,075.42 บาท ทำให้กรอบวงเงินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 อนุมัติจำนวน 96,868,332,434.95 บาท เพิ่มเป็น 98,482,156,510.37 บาท โดยจะมีการนำเสนอครม.ขออนุมัติต่อไป
@เปิดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่รับอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือที่ อส 0042.1/2507 ถึงผู้ว่าฯรฟท. แจ้งผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและส่งเอกสารคืน ความว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ได้แจ้งกำหนดรับฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณ ในคดีหมายเลขดำที่ 309/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 823/2567 ของศาลปกครองกลางระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้อง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้คัดค้าน
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระหว่าง การรถไฟ ผู้ร้อง บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผู้คัดค้านที่ 1 และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผู้คัดค้านที่ 2 คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา) คำร้องที่ 927/2567 คำสั่งที่ 1076/2567 คดีถึงที่สุดแล้ว โดยมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำอุทธรณ์ของรฟท.ไว้พิจารณา และแจ้งผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและส่งเอกสารคืน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24 ต.ค. 2567
โดยรฟท.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ที่ให้รฟท.ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้า เอส ยู ตามที่ คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565 ให้ รฟท.ชำระเงิน ดังนี้ 1.ชำระสินจ้างตามสัญญาและสินจ้างเนื่องจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) รวมจำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม (7%) จำนวน 27,654,882.90 บาท
2.ชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 7.305% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแต่ละงวดจนถึงวันที่ 21 ก.ค. 2565 เป็นเงิน 929,211,622.11 บาท และดอกเบี้ยในอัตรา 7.305% ต่อปี ของวงเงิน จำนวน 4,204,286,694.83 บาท นับจากวันที่ 22 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป
3. ชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 7.305% ต่อปี ของต้นเงิน 180,651,350.64 บาท ซึ่งเป็นเงินหลักประกัน (Retention) ที่ล่าช้า ตั้งแต่วันที่ผิดนัดชำระคืนในแต่ละงวดจนถึงวันที่ 21 ก.ค. 2565 เป็นเงินจำนวน 34,908,693.43 บาท
4. ชำระค่าใช้จ่ายในระหว่างขยายเวลาจำนวน 680,057,076 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มของวงเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย ผิดนัดในอัตรา 7.305% ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป
5. ชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคา (ค่าK) จำนวน 96,044,682.13 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 6,723,127.75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,767,809.88 บาท ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา MLR+2% ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป
6.ค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ และค่าป่วยการคณะอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายคำชี้ขาด
ด้านรฟท.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน 194 รายการ พบว่ามี 23 รายการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมถึงมี งานรายการ VO-CC1-0175 งานต้นอโศกอินเดีย มูลค่าเปลี่ยนแปลง 2,028,663 บาท ยังไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีงานที่อยู่นอกเหนือสัญญาก่อสร้างสายสีแดง ได้แก่ งานรายการ VO-CC1-009 งานก่อสร้างลานจอดพักสินค้าถาวรบริเวณย่านบางซื่อ มูลค่าเปลี่ยนแปลง 534,123,793 บาท งานรายการ VO-CC1-0015 งานก่อสร้างย่านจอดพักรถสินค้าชั่วคราว ซื่อ มูลค่าเปลี่ยนแปลง 56,252,793 บาท และงานรายการ VO-CC1-0040 งานก่อสร้างลานจอดพักสินค้าถาวร (เพิ่มเติม) บริเวณย่านบางซื่อมูลค่าเปลี่ยนแปลง 216,130,743.96 บาท
โดยระบุว่า ทั้ง 3 รายการอยู่นอกเหนือสัญญาก่อสร้างรถไฟสายสีแดง จึงเห็นว่า คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ 194 รายการ เป็นค่าเสียหายที่เกินจริง นอกจากนี้ยังมีความเห็นแย้งอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ,ดอกเบี้ยชำระเงินล่าช้า ไม่ถูกต้อง ,การออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานของวิศวกร เป็นต้น ซึ่งรฟท.ได้ยื่นต่อศาลปกครองกลางขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ต่อมาศาลชั้นต้นได้ มีคำพิพากษายกคำร้องและล่าสุดศาลปกครองสูงสุด ก็ไม่รับอุทธรณ์
การที่กระทรวงคมนาคมสั่งให้รฟท.ต่อสู้ โดยยื่นอุทธรณ์คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ พร้อมกับมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบงานที่ทำตามคำสั่งเพิ่มเติม หรือ VO ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการซื้อเวลา ...เพราะรู้ๆกันอยู่แล้วว่า รฟท.เสียเปรียบทุกประเด็น แทบไม่มีโอกาสชนะเลย ซึ่งหลังมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ยืนยันคำตอบชัดเจนส่วนการสั่งงาน VO ของสายสีแดงนี้ ผิดระเบียบ ขั้นตอนหรือไม่ บุคคลที่ออกคำสั่งมีอำนาจหรือไม่ เป็นคำถามที่”คมนาคมและ รฟท.” ต้องเร่งหาคำตอบ!!!