- • การบินไทย มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 ที่ 12,480 ล้านบาท
- • เพิ่มขึ้น 711.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิเพียง 1,538 ล้านบาท
- • รวมผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อย
การบินไทย เผลประกอบการไตรมาส 3/67 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,480 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,538 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 711.4%
โดยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 45,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,820 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท หรือเติบโต 23.8% โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 24.2% และมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 26.2% เนื่องจากในปีนี้บริษัทมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.94 ล้านคน
ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,192 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 3/66 ซึ่งมีกำไร 7,719 ล้านบาท หรือลดลง 6.8% ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,829 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 10,119 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ จำนวน 9,025 ล้านบาท
ส่วน EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) อยู่ที่ 6,655 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มี 8,360 ล้านบาท หรือลดลง 20.4%
อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ลดลงจาก 77.3% ในงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 76.1% และรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) เท่ากับ 2.83 บาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.93 บาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการกลับมาเปิดให้บริการของสายการบินอื่น ๆ เพิ่มขึ้น และโดยปกติในไตรมาส 2 และ 3 เป็นช่วงโลว์ซีซั่น
บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 38,636 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 29,289 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ เพิ่มขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 13,550 ล้านบาท คิดเป็น 35.1% ของค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) และมีค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน มีจำนวน 5,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,652 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 195.0% สาเหตุหลักเกิดจากประมาณการค่าซ่อมที่เพิ่มขึ้นตามการรับมอบเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 67 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 15,195 ล้านบาท ลดลงจากงวเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 16,314 ล้านบาท ลดลง 6.9% ส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ 4,070 ล้านบาท ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 24,193 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 66 ที่มีกำไร 29,330 ล้านบาท หรือลดลง 17.5% EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 25,056 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 31,720 ล้านบาท หรือลดลง 21%
ส่วนรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท คิดเป็น 17.2% ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 111,617 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.9%
ต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 14,233 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้รวม 5,273 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่ มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินแบบแอร์บัส A380-800
ณ วันที่ 30 ก.ย.67 บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ 77 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ เครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ โดยได้รับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่า 2 ลำในช่วงเดือน ต.ค. รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ 9 ลำ อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 19.2% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 15.3% Cabin Factor เฉลี่ย 77.4% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 80% จำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7%
บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 263,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 66 จำนวน 24,752 ล้านบาท หรือ 10.4% หนี้สินรวมจำนวน 291,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,551 ล้านบาท หรือ 3.4% ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 27,941 ล้านบาท ลดลงจากติดลบ 43,142 ล้านบาท หลังจากผลประกอบการเป็นบวก บริษัทมีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำที่มีระยะเวลาที่ครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี 82,587 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 บริษัทได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,531 ล้านบาท