กลุ่มบางจากแจงกำไรงวด 9เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 2,168 ล้านบาท ลดลง 85%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 1.42หมื่นล้านบาท ผลจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน ขณะที่มีรายได้รวมพุ่ง84%แตะ 447,631 ล้านบาท โต84%และมี EBITDA 33,499 ล้านบาท มาจากธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน คาดว่าไตรมาส 4 นี้ค่าการกลั่นปรับตัวสูงขึ้น
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่สร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขายและการให้บริการ รวม 447,631 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดจำหน่ายน้ำมันเติบโตก้าวกระโดดกว่า 10,000 ล้านลิตร และกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างสถิติรายได้สูงสุดจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น มี EBITDA 33,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,168 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 85%ที่มีกำไรฯ 14,210ล้านบาท
สาเหตุที่กำไรฯใน 9เดือนแรกปีนี้ ปรับลดลงมาก เนื่องจากมีการรับรู้ Inventory Loss (รวม NRV) 4,683 ล้านบาท หรือ 1.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นพื้นฐานและราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ทั้งปีบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้มากกว่า 500,000 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 4 นี้คาดว่าค่าการกลั่นจะปรับตัวสูงขึ้นเพราะเป็นช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น
โดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ภายหลังจากการได้มาซึ่งบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 กลุ่มบริษัทบางจากประสบความสำเร็จในการสร้าง Synergy เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรับรู้ Synergy ให้บริษัทฯ มียอดสะสมสูงถึง 4,400 ล้านบาทภายใน 9 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2,500 ล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มั่นใจในการปรับเป้าหมาย Synergy ใหม่ให้สูงขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2567 และ 5,500 ล้านบาทในปี 2568
นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บางจากฯ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในงวด 9เดือนแรกปีนี้ แยกตามกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ คือ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มีรายได้ 373,716 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 85 มี EBITDA 4,832 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 254,000 บาร์เรลต่อวัน เติบโตกว่าร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีการหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันพระโขนง ตามวาระ (Turnaround Maintenance) ในช่วงกลางปี 2567 แต่มีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันศรีราชามาชดเชย
กลุ่มธุรกิจการตลาด มีรายได้ 295,610 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA 5,029 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทาง 10,247 ล้านลิตร เติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็ม 9 เดือนของปี 2567 ของ BSRC รวมถึงการปรับเปลี่ยนโลโก้ของสถานีบริการ BSRC แล้วเสร็จไปมากกว่าร้อยละ 80 ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการรวมเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 29 ในส่วนของค่าการตลาดสุทธิรวมปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 0.86 บาทต่อลิตร จากการรับรู้ Inventory Loss ตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 มีสถานีบริการรวม 2,141 สถานี และจุดชาร์จ EV กว่า 321 สถานี
กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีรายได้ 3,402 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 และมี EBITDA 3,743 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีรายได้ 15,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 และมี EBITDA 654 ล้านบาท ได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการผลิตภัณฑ์ B100 ที่เพิ่มขึ้นจาก BSRC ในขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีกำไรขั้นต้นเติบโต สอดคล้องกับปริมาณการผลิตและจำหน่ายเอทานอลที่เพิ่มขึ้น และราคาขายเอทานอลที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบหลักที่ยังอยู่ในระดับสูง
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มีรายได้ 29,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 และมี EBITDA 19,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และมีการรับรู้ผลการดำเนินงานจากแหล่งปิโตรเลียม Statfjord หนุนปริมาณการขายเติบโตกว่าร้อยละ 38 ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ประกอบกับแหล่งผลิต Brage สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มครึ่งปีจากแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2566
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 กลุ่มบริษัทบางจาก มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 154,193 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA 7,427 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสนี้ บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนส่วนของบริษัทใหญ่ 2,093 ล้านบาท