xs
xsm
sm
md
lg

"ซีเค พาวเวอร์" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่ง CKP NET ZERO 2050 วางเป้าสำเร็จผลักดันการดำเนินงานที่จับต้องได้จริงไม่ใช่แค่ฝัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • - ซีเค พาวเวอร์ ครองแชมป์ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
  • - ตั้งเป้าหมาย CKP NET ZERO 2050
  • - แผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบความสำเร็จ
  • - วางกลยุทธ์องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างจริงจัง
  • - ยืนยันการทำงานที่จับต้องได้จริง ไม่ใช่แค่ฝัน
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) เปิดเผยถึงแผนผู้บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ทุ่มเทตั้งใจที่จะทำให้ ซีเค พาวเวอร์เป็นบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และกำลังเดินหน้าเพื่อให้บรรลุยังเป้าหมายดังกล่าว โดยมีผลการดำเนินงานที่สามารถจับต้องได้อย่างแท้จริง
 
ทั้งนี้ "ซีเค พาวเวอร์" เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำที่สุด เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่มีดีต่อการจัดการพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 0.0691 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Thailand Grid) ที่ 0.4999tCO2e/MWh ถึง 86% ในครึ่งปีแรกของปี 2567 และมีผลลัพธ์ที่ลดลงถึง 83% และการคาดหมายในช่วงสิ้นปี 2567 จะต่ำกว่าค่ากลางถึง 87%

บริษัทฯ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านการลดการใช้พลังงานพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 บริษัทลดการใช้พลังงานทั้งหมดได้ถึง 5,101 MWh ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,051 tCO2e เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการกรุงเทพปิดไฟ (Earth Hour 2024) เท่ากับ 186 ชั่วโมง และในครึ่งปีแรกของปี 2567 ได้ลดการใช้พลังงานได้ถึง 2,883 MWh ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,313 tCO2e หรือคิดเป็น 119 ชั่วโมง
 
 *เป้าหมาย CKP NET ZERO EMISSIONS 2050 ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า
     
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย CKP NET ZERO EMISSIONS 2050 ซึ่งได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้บริษัทบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการศึกษาการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนร่วมกับก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม นอกจากนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 0.86%
 
นอกจากการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้า ทางบริษัทยังได้ปรับใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดในการขนส่งภายในสำนักงานและโรงไฟฟ้าในเครือฯ
 
“เมื่อสองปีที่ผ่านมา ซีเค พาวเวอร์ ได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 89% ขณะนี้สามารถเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวได้ถึง 93% และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ประมาณ 8.5 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 17% ของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ใช้ในประเทศไทย ในปี 2566 บริษัทฯ ช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงประมาณ 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” นายธนวัฒน์กล่าวสรุป
 
*เปิดธุรกิจผู้ผลิต-จำหน่ายไฟฟ้า 18 แห่งติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์
 
ทั้งนี้ บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภท จำนวน 18 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 
     
- โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ภายใต้ บริษัท หลวงพระบางพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50.0% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ 
 
- โรงไฟฟ้าระบบโคเจเนอเรชัน 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่นจำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์
 
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 13 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 11 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 28 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัทนครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์
 
*ปลุกแผนกลยุทธ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
 
สำหรับกลยุทธ์สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น บริษัทได้วางแผนการดำเนินงานระยะยาวไว้ดังนี้ คือ ลดการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีโครงการลดการใช้พลังงานในทุกหน่วยงาน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในแผนระยะยาว มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 
 
ขณะที่บริษัทตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อการใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้า โดยเดินหน้าโครงการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยในแผนระยะยาวมุ่งการขยายการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมก๊าซธรรมชาติ สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยตามร่างแผน PDP 2024
 
ทั้งยังมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจากแผนระยะยาวบริษัทมุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 95% ภายในปี 2586 ด้วยเพิ่มการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในองค์กร และยังมุ่งมั่นเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในองค์กร 100% ตามแผนงานระยะยาว รวมถึงการใช้ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คงเหลือภายในปี 2586
 
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายการลงทุนสีเขียวให้กับองค์กร ในแผนระยะยาวบริษัทได้เตรียมความพร้อมสำหรับประยุกต์ใช้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) และขยายธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น