xs
xsm
sm
md
lg

IRPCอ่วม!ไตรมาส3/67ขาดทุน4.48พันล. ลุ้นปลายปีนี้ดีมานด์น้ำมัน-ปิโตรเคมีดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • IRPC ขาดทุนไตรมาส 3/67 4,480 ล้านบาท
  • • สาเหตุหลักคือราคาขายลดลงตามราคาน้ำมันโลก
  • • ขาดทุนสต็อกน้ำมัน 5,000 ล้านบาท
  • • คาดการณ์ไตรมาส 4/67 ความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว


IRPC กระอักขาดทุนไตรมาส3/67แตะ 4,480ล้านบาท เนื่องจากราคาขายลดลงตามราคาน้ำมันโลก ฉุดขาดทุนสต็อกน้ำมัน5,000ล้านบาท ชี้ไตรมาส4/67 แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นช่วงฤดูหนาว เช่นเดียวกับกลุ่มปิโตรเคมี

นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 4/2567 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับการผลิตพลังงานในช่วงฤดูหนาว ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไตรมาสที่ 4/2567ความต้องการผลิตภัณฑ์จะปรับตัวดีขึ้น เพื่อเตรียมรับเทศกาลปลายปี

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่มุ่งเน้นการสร้างกำลังซื้อภายในประเทศ การบรรเทาภาวะเงินฝืดและการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีสัญญาณเชิงบวกสำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความผันผวนและไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสที่ 3/2567 มีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้จากสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ซึ่งกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ขาดทุนสุทธิ  4,880 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส2/2567ที่ 4,148 ล้านบาท โดยมีรายได้การขายสุทธิ 69,964 ล้านบาท ลดลง 4,102 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 10 ซึ่งปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แม้ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4

สำหรับธุรกิจปิโตรเลียม บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market GRM) เพิ่มขึ้น เพราะส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเตาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคายางมะตอยปรับตัวสูงขึ้นและความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการใช้งบประมาณประจำปี รวมทั้งธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้นตามราคาตลาด (Market PTF) เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มสไตรีนิกส์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 3,650 ล้านบาท หรือ 5.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน

จากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอตัว ส่งผลราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง ทำให้บริษัทขาดทุนสต็อกน้ำมัน 3,366 ล้านบาท หรือ 5.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ามูลค่าสุทธิที่ได้รับ (NRV) 1,634 ล้านบาท หรือ 2.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บริษัทฯ จึงขาดทุนสต๊อกน้ำมันสุทธิ 5,000 ล้านบาท หรือ 7.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลต่อ EBITDA ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ -4,843 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่ EBITDA  1,439 ล้านบาท  

อย่างไรก็ตามเงินบาทที่แข็งค่าทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน 763 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้ 182 ล้านบาท รวมทั้งกำไรบริหารความเสี่ยงน้ำมัน(ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) 575 ล้านบาท แต่มีค่าเสื่อมราคา 2,327 ล้านบาท และมีต้นทุนการเงินสุทธิ จำนวน 687 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 4,880 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 4,148 ล้านบาท จากไตรมาสที่แล้ว  

“บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการ SOS (Save Overcome Strive) เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานผ่านการบริหารจัดการการลงทุนและสินทรัพย์ พร้อมติดตามความผันผวนของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทฯ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ในการรับมือได้อย่างทันท่วงที”              


กำลังโหลดความคิดเห็น