- • กรมที่ดินไม่เพิกถอนสิทธิ์รฟท. ในที่ดินเขากระโดง 5,000 ไร่ หลังคณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้ว
- • รฟท. ต้องพิสูจน์สิทธิ์ในศาล เนื่องจากกรมที่ดินโยนภาระให้รฟท. ดำเนินการเอง
- • ผู้ว่าฯรฟท. ไม่รับแผนที่ที่ศาลชนะคดี เนื่องจากยังติดใจบางประเด็น
- • รฟท. เตรียมหารือกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแนวทางทวงคืนที่ดิน คาดสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์
กรมที่ดิน โยนรฟท.พิสูจน์สิทธิ์ในศาลปมที่ดิน”เขากระโดง” 5,000ไร่ หลังคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่เพิกถอน ด้าน”ผู้ว่าฯรฟท.”ยังติดใจ ไม่รับ แผนที่ รฟท. ที่ศาลให้ชนะคดี เร่งหารือคมนาคม พร้อมหาแนวทางทวงคืน คาดสรุปใน 1-2 สัปดาห์
จากกรณีที่นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือแจ้ง เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ อันเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 โดยคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนฯ กรมที่ดิน มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟฯบริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 5,083 ไร่ ว่า รฟท.ได้รับเอกสารจากกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร รวมถึง ต้องมีการหารือกับกระทรวงคมนาคมด้วย
“หลักการของรฟท.คือจะต้องดำเนินการในแนวทาง ที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด ” นายวีริศ กล่าว
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนฯเห็นว่า หาก รฟท.เห็นว่ามีสิทธิในที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดิน จะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางศาล นั้น นายวีริศ กล่าวว่า จากที่ได้อ่านเอกสารที่กรมที่ดิน ส่งมาเบื้องต้นนั้น สรุปได้ 5 ประเด็น ได้แก่ มีการระบุว่า รฟท.ไม่มีหลักฐานใหม่ เป็นการรังวัดที่ดินตามมติ ครม.ปี 2539 ซึ่งเรื่องนี้ ในเมื่อแผนที่ดังกล่าว รฟท.เคยนำเข้าสู่ศาลยุติธรรมแล้ว และสู้กันไปถึงชั้นฎีกา แล้ว รฟท.ชนะ จึงยังงงกับประเด็นนี้
เช่นเดียวกัน กรณีที่มีการระบุว่า รฟท.เป็นผู้มีส่วนได้เสีย คือ มีชาวบ้านเข้าครอบครองที่ดินของ รฟท. ดังนั้น รฟท. ที่ถือว่าอยู่อีกฝั่งหนึ่ง แต่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการสอบสวนฯ ตามมาตรา 61 ด้วยนั้น จะเหมาะสมหรือไม่ แต่ทาง รฟท. ก็มีคำถามกลับไปเช่นกันว่า แล้วกรมที่ดินจะไม่มีส่วนได้เลยหรืออย่างไร กรมที่ดินก็อาจมีส่วนได้เสียก็ได้ เพราะเป็นผู้ที่ออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนในพื้นที่
“ผมต้องดูว่า เหตุผลต่างๆของท่านอธิบดีกรมที่ดิน ถูกต้องเหมาะสมทุกอย่างหรือเปล่า แล้วรถไฟฯจะดำเนินการอย่างไร เพราะท่านอธิบดีกรมที่ดินบอกว่า พื้นที่ต่างๆที่ท่านไปศึกษาจากทางประวัติศาสตร์ มันควรจะวัดจากแนวรางรถไฟ 20-30 วา อะไรอย่างนี้ ดังนั้นที่สรุปออกมา ผมก็เลยไม่ค่อยเข้าใจ”
นายวีริศกล่าวว่า มีบางคนท่านก็บอกว่า พื้นที่ตรงนั้น เป็นที่ที่เป็นแหล่งหินที่ดีที่สุดของประเทศ และหินตรงนั้นจะนำมาเพื่อใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ เป็นพระราชปณิธาน ผมก็ต้องไปดูว่า อันไหนถูกต้องกันแน่ ผมมีเวลานิดเดียวที่จะต้องตัดสินเรื่องนี้ คิดว่าไม่นาน 1-2 อาทิตย์ ต้องตัดสินใจแล้ว เนื่องจากมีเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน