xs
xsm
sm
md
lg

“มนพร” ลุยยกเครื่องบริการสนามบินภูมิภาค เล็งขึ้นค่า PSC-ตั้งคณะทำงานสแกนทุกปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • มนพร สั่งการ ทย. เร่งปรับปรุงพัฒนาสนามบินภูมิภาค
  • • แก้ปัญหาความสะอาด จัดระเบียบพื้นที่ร้านค้า รถโดยสารเชื่อมเข้าเมือง
  • • เพิ่มกิจกรรมโปรโมทนักท่องเที่ยว
  • • เล็งขึ้นค่า PSC เป็น 100-125 บาทต่อคน เพื่อเพิ่มรายได้กองทุนฯ
  • • ตั้งคณะทำงานสแกนทุกสนามบิน


“มนพร” สั่ง ทย.เร่งปรับปรุงพัฒนา "สนามบินภูมิภาค" จี้แก้ปัญหาความสะอาด จัดระเบียบพื้นที่ร้านค้า รถโดยสารเชื่อมเข้าเมือง เพิ่มกิจกรรมโปรโมตนักท่องเที่ยว เล็งขึ้นค่า PSC เป็น 100-125 บาทต่อคน เพิ่มรายได้กองทุนฯ พร้อมตั้งคณะทำงานสแกนทุกสนามบิน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้เดินหน้าการพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานทั้ง 29 แห่งของ ทย.อย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับการให้บริการโดยให้นโยบายเบื้องต้นเรื่องความสะอาด ความสะดวก และเน้นให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อโปรโมตให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงประเพณี หรือเทศกาลต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เพราะสนามบินภูมิภาคจะเป็นส่วนสนับสนุนนโยบายศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของรัฐบาล

โดยได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานที่ท่าอากาศยานกระบี่เป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารและเที่ยวบินมากที่สุด และมีรายได้สูงสุดของ ทย. พบว่ายังมีปัญหาในการให้บริการหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องความสะอาด สภาพห้องน้ำ พื้นที่สำหรับร้านค้าไม่เป็นระเบียบ พื้นที่บริการผู้โดยสาร เก้าอี้พักคอย ที่จอดรถ ไม่เพียงพอ มีสภาพทรุดโทรม รวมไปถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อจากสนามบินไปในเมืองและแหล่งท่องเที่ยว และการให้บริการของพนักงาน จากนั้นได้ไปตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งพบว่ามีปัญหาคล้ายๆ กัน และในวันที่ 7 พ.ย.นี้จะไปตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานพิษณุโลก


ในระยะเร่งด่วนได้ให้ ทย.เร่งแก้ปัญหาเรื่องความสะอาดและการจัดระเบียบพื้นที่ก่อน ซึ่งได้มีการติดตามผลการทำงานทุกสัปดาห์ พบว่ามีความสะอาดเรียบร้อยมากขึ้น นอกจากนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานแยกในแต่ละแห่ง โดยให้มีผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และทางจังหวัด เช่น การท่องเที่ยวฯ หอการค้าจังหวัด อบจ. รวมถึงภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน

“เรื่องความสะอาดและการจัดระเบียบพื้นที่ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขทันที ส่วนที่ต้องใช้เวลาแก้ไขหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ได้ตั้งคณะทำงานที่มีทุกภาคส่วนเป็นกรรมการ เพื่อร่วมมือในการแก้ไข สำหรับ อาคารผู้โดยสารในแต่ละแห่ง จะต้องมีการจัดกิจกรรม เพื่อโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวหรือเทศกาลของจังหวัด ซึ่งจะต้องร่วมมือกับ ททท.จัดทำหมุนเวียน ซึ่งมีการเริ่มต้นเทศกาลฮัลโลวีนที่ผ่านมาแล้ว จากนี้จะเป็นลอยกระทง ฯลฯ และเรื่องสำคัญ คือให้ร่วมกับกรมการขนส่งฯ จัดให้มีรถโดยสารสาธารณะเชื่อมสนามบินไปยังพื้นที่สำคัญ เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่มีแต่แท็กซี่ ทำให้ผู้โดยสารไม่มีทางเลือก ส่วนทางเชื่อมจากที่จอดรถไปอาคารผู้โดยสารต้องมีหลังคา ให้เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย”


@เล็งปรับขึ้นค่า PSC 100-125 บาทต่อคน เพิ่มรายได้กองทุนฯ ช่วยปรับปรุงบริการ

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ ทย.แบ่งกลุ่มท่าอากาศยาน โดยแยกตามปริมาณผู้โดยสารเพื่อเป็นตัวชี้วัด และดูปัญหาอุปสรรค เพื่อหาแนวทางแก้ไขได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสนามบิน ซึ่ง ทย.รายงานว่ามีงบประมาณแต่ละปีไม่เพียงพอ แม้จะมีเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานที่มีรายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) เข้ามาช่วยในเรื่องการบริการและจ้างบุคลากร (เอาต์ซอร์ส) ซึ่งในปี 2568 ทย.ได้รับงบประมาณ 5,356 ล้านบาท หากมีจุดใดที่จำเป็นต้องของบเพิ่มเติม ให้ทำแผนให้ชัดเจนเพื่อเสนอของบกลางต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการหารือแนวทางในการปรับขึ้นค่า PSC ผู้โดยสารภายในประเทศ จาก 50 บาท เป็น 100-125 บาท เนื่องจากทย.ไม่ได้ปรับมา 24 ปีแล้ว และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดยจะทำให้ทย.มีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนนำมาปรับปรุงบริการโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ


@แยกกลุ่มสนามบิน แก้ปัญหา และพัฒนาเหมาะสม

สำหรับการจัดกลุ่มสนามบินเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม่มีผู้โดยสาร จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินแพร่ สนามบินเพชรบูรณ์ สนามบินนครราชสีมา สนามบินปาย สนามบินเบตง

กลุ่มที่ 2 มีผู้โดยสารน้อยกว่า 500 คนต่อวัน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
สนามบินหัวหิน สนามบินระนอง สนามบินชุมพร สนามบินลำปาง สนามบินแม่สอด

กลุ่มที่ 3 มีผู้โดยสาร 500-1,000 คนต่อวัน จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ สนามบินน่านนคร สนามบินนครพนม สนามบินร้อยเอ็ด สนามบินสกลนคร สนามบินเลย สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินนราธิวาส

กลุ่มที่ 4 มีผู้โดยสาร 1,000-2,500 คนต่อวัน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินตรัง สนามบินพิษณุโลก

กลุ่มที่ 5 มีผู้โดยสาร 2,500-5,000 คนต่อวัน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินขอนแก่น สนามบินสุราษฏร์ธานี สนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินอุบลราชธานี

กลุ่มที่ 6 มีผู้โดยสารมากกว่า 5,000 คนต่อวัน ได้แก่ สนามบินกระบี่


กำลังโหลดความคิดเห็น