xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว ขสมก.กู้ 8,540 ล้านบาทเสริมสภาพคล่อง จ่ายค่าน้ำมัน-เหมาซ่อม คาดปี 68 ขาดทุน 3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • •*ประเด็นสำคัญ:
  • • ครม.อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงิน 8,540 ล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่องในปี 2568
  • • ขสมก. ประเมินรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้เงินสดขาดมือกว่า 30,025 ล้านบาท
  • • การกู้เงินครั้งนี้เป็นการชดเชยขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ


ครม.อนุมัติ ขสมก.กู้กว่าจำนวน 8,540 ล้านบาทช่วยเสริมสภาพคล่องปี 68 หลังประเมินรายได้ไม่พอรายจ่าย กระทบเงินสดขาดมือกว่า 30,025 ล้านบาท “สุรพงษ์” เผยเป็นการชดเชยขาดทุนบริการสาธารณะ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พ.ย. 2567 มีมติอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมจำนวน 8,540.73 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชำระค่าเชื้อเพลิง 2,494.85 ล้านบาท ชำระค่าเหมาซ่อม 1,662.19 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 4,383.69 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจาก ขสมก.เป็นกิจการขนส่งสาธารณะแก่ประชาชน รัฐบาลต้องชดเชยผลการขาดทุนรายปี ตามมาตร 11 แห่ง พ.ร.ฎ.จัดตั้ง ขสมก. พ.ศ. 2519 ตามจำนวนเท่าที่จำเป็น รวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินที่เป็นผลมาจากการขาดทุน โดยในปี 2568 ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 153.69 ล้านบาท เพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินที่เป็นผลจากการขาดทุน ทำให้ต้องขอกู้เงินจำนวน 8,540.73 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง

“ที่ผ่านมา ขสมก.ไม่เคยขอต้องชดเชยผลการขาดทุน ทำให้มีหนี้สะสมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงบประมาณรับทราบ และเตรียมจัดสรรงบประมาณในปีต่อๆ ไป ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้สะสมของ ขสมก.ลดลง”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างจัดทำแผนขับเคลื่อนกิจการ ขสมก. โดยปรับปรุงจากแผนฟื้นฟู ขสมก. ซึ่งจะมีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และจะมีรถใหม่ปรับอากาศที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้าให้บริการ จะมีค่าใช้จ่าย ต้นทุนด้านเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง ลดลง และสามารถจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราใหม่ ซึ่งจะทำให้ ขสมก.มีรายได้เพิ่มแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งว่า ขสมก.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่ง ขสมก.ได้ทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าเงินสดคงเหลือปลายงวดจะขาดมือ จำนวน 30,025.66 ล้านบาท โดยมีเงินสดรับจำนวน 6,435.43 ล้านบาท เงินสดจ่าย 36,461.09 ล้านบาท ทำให้มีความจำเป็นต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่อง

ทั้งนี้ มีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลังเสนอว่า จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ขสมก.ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงแผนขับเคลื่อนกิจการ ขสมก. โดยปัจจุบันแผนอยู่ระหว่างปรับปรุงให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมควรกำกับ ขสมก.ให้ดำเนินมาตรการที่ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้องค์กร และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ควรกำหนดบทบาท ขสมก.ให้ชัดเจน หลังจากมีผู้ประกอบการเอกชนสามารถให้บริการได้ดี และกำหนดเส้นทางเดินรถให้สอดคล้องกับบทบาทที่เหมาะสม

ด้านสำนักงบประมาณก็ได้กำชับให้ ขสมก.จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อใช้ในการดำเนินงานและนำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว รวมถึงให้ติดตามแผนการจัดหารถโดยสารปรับอากาศพลังงานสะอาดตามแนวทางแผนขับเคลื่อนกิจการ ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น