xs
xsm
sm
md
lg

SCCโอดปิโตรฯดิ่งลึกปิดโอกาส“SCGC”เข้าตลท. แบกภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ680ล.แลกหยุดผลิตLSP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ตัดสินใจหยุดเดินเครื่องโครงการ LSP ในเวียดนามเป็นเวลา 6 เดือน
  • • การตัดสินใจนี้เกิดจากการประเมินผลขาดทุนหากยังฝืนเดินเครื่องโครงการ LSP ต่อไป
  • • SCC เลือกหยุดดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้านการเงินและประเมินโอกาสในอนาคต


การตัดสินใจที่เด็ดขาดเมื่อบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)ประกาศหยุดเดินเครื่องโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP)ที่ประเทศเวียดนามเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากประเมินแล้วมีแต่ขาดทุนหากยังฝืนเดินเครื่องจักรในโครงการLSPต่อไป

จากสถานการณ์ปิโตรเคมีตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี และยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่มีกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่เข้าสู่ตลาดจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีนกดดันความต้องการเคมีภัณฑ์โลกชะลอตัวตาม ส่งผลให้ส่วนต่างผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกHDPEกับแนฟทา(สเปรด)อยู่แค่ 300เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นระดับที่ผลิตแล้วขาดทุน

ดังนั้นการหยุดโครงการLSPที่เวียดนามน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสุด แม้ว่าโครงการLSPจะเป็นโรงโอเลฟินส์ แครกเกอร์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงกว่าโรงมาบตาพุด โอเลฟินส์ และระยอง โอเลฟินส์ในประเทศไทย แต่โครงการ LSP เป็นโรงงานแบบ Single Complex ยังไม่มีการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม (HVA) รวมถึงสินค้าพรีเมียมเลย จึงอยู่ในจุดที่ลำบากสุด ต่างจากโครงการระยอง โอลิฟินส์และโรงงานมาบตาพุด โอเลฟินส์ ในประเทศไทย ที่ได้มีการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ HVA ที่ขายได้มาร์จิ้นสูงกว่าเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไป และยังมีการต่อยอดไปผลิตสินค้าอื่นๆ ที่ได้ราคา ดังนั้น การหยุดเดินเครื่องจักรโครงการLSP ทำให้บริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายทั้งดอกเบี้ยจ่าย ค่าแรงพนักงานที่มีอยู่ราว 1พันคน ค่าเสื่อมราคาและอื่นๆเฉลี่ย 20 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 680ล้านบาท)ต่อเดือน แต่ก็คุ้มการการปล่อยเดินเครื่องจักรต่อไป

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ตลาดปิโตรเคมีพลิกกลับมาดีขึ้น มีสเปรด HDPE อยู่ที่400 เหรียญสหรัฐ/ตันก็สามารถเดินเครื่องจักรโครงการ LSP ใหม่อีกครั้ง


หากมองย้อนกลับไป พบว่าโครงการLSP ใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างจนดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกันยายน 2567 ต้องล้มลุกคลุกคลานเริ่มตั้งแต่การหาพันธมิตรร่วมทุนที่ได้QPI Vietnam (QPIV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Qatar Petroleum International ร่วมถือหุ้น 25% PetroVietnam และ Vinachem จากเวียดนามถือหุ้นร่วมกัน 29% โดยมีกลุ่ม SCC ถือหุ้นใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 46% แต่สุดท้ายพาร์ทเนอร์ต่างชาติต่างพากันถอนตัวกัน สุดท้าย SCC ตัดสินใจดึงบริษัทย่อยเข้าร่วมถือหุ้นสัดส่วนที่มากขึ้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นโครงการที่กลุ่ม SCCถือหุ้น 100% เพื่อทำโครงการเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งเร่งหาแหล่งเงินกู้และทำสัญญาเงินกู้กว่า 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 110,000 ล้านบาท) ระยะเวลาเงินกู้14ปี กับ 6 สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง ธ.ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ธ.มิซูโฮ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยได้เริ่มการก่อสร้างในไตรมาส3/2561 เดิมคาดว่าจะดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 แต่เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างดีเลย์และได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 30 กันยายน2567 สามารถผลิตได้ เพียง 74,000 ตัน

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ตกต่ำลึกและลากยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากปัจจัยลบกดดันจากความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯทำให้สหรัฐฯและยุโรปกีดกันการนำเข้าสินค้าจากจีน ส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้าอาเซียนและไทย ทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า


ในอนาคตเพื่อไม่ให้ LSP ต้องประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพง SCCจึงตัดสินใจทุ่มงบลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท)ในโครงการเพิ่มวัตถุดิบการผลิตเพื่อรองรับก๊าซอีเทนในโครงการ LSP เช่น สร้างถังเก็บรักษาวัตถุดิบก๊าซอีเทน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้อุณหภูมิต่ำประมาณ -90 องศาเซลเซียส และสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบ (Supporting Facilities) คาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2570 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐของประเทศเวียดนาม

การลงทุนโครงการดังกล่าว ช่วยให้โครงการ LSP สามารถรับวัตถุดิบก๊าซอีเทนจากสหรัฐอเมริกาที่มีราคาถูก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงงาน LSP อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลงและเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น ซึ่งโชคดีที่กระบวนการผลิตโอเลฟินส์ของ LSP ได้ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรับวัตถุดิบประเภทก๊าซ นอกเหนือจากโพรเพนและแนฟทา

โครงการ LSP มีมูลค่าการลงทุน 5.4พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท) มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.35 ล้านตันต่อปี และพอลิโอเลฟินส์ 1.4 ล้านตันต่อปี

นายธรรมศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า แผนการนำบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด(มหาชน)หรือ SCGC เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯคงต้องเลื่อนออกไปอีกสักพักใหญ่ ไปจนกว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีโลกจะดีขึ้น อีกทั้งโครงการLSP ที่เวียดนามได้หยุดการผลิตและยังต้องลงทุนก่อสร้างถังเก็บอีเทนซึ่งกว่าจะเสร็จปลายปี 2570

จากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนรุนแรง วัฏจักรปิโตรเคมีโลกที่อ่อนตัวลากยาว ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสินค้าจีนเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้การดำเนินธุรกิจระยะสั้นรอดยาก ดังนั้น SCCต้องแก้เกมโดยกำหนดในปี2568 ลดต้นทุนทั้งองค์กรราว 5,000ล้านบาท การลดเงินทุนหมุนเวียน 10,000 ล้านบาทภายในไตรมาส1/2568 ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร ซึ่งขณะนี้SCCอยู่ระหว่างการพิจารณากิจการที่ไม่ทำกำไรโดยไล่ปิดกิจการให้แล้วเสร็จในกลางปีหน้า หลังจากปิดธุรกิจ SCG Express และธุรกิจดิจิทัลเทคโนโลยี OITOLABS ประเทศอินเดีย รวมถึงการขายสินทรัพย์ (Asset Divestment ) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและรักษาเสถียรภาพการเงิน และรักษาEBITDAให้อยู่ระดับที่สามารถแข่งขันได้ต่อเนื่อง

ส่วนการหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่เพื่อร่วมถือหุ้นโครงการLSP นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก SCC ได้สัญญาให้โอกาสพาร์ทเนอร์เดิมที่เคยถอนตัวกลับมาถือหุ้นโครงการนี้ได้ อีกทั้งสถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกยังคงตกต่ำไปอีกสักพัก จึงไม่ใช่จังหวะที่ดีในการหาพาร์ทเนอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น