บอร์ด รฟท.อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินรถไฟสายสีแดงสัญญา 3 งานติดตั้งระบบ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันอีก 847.74 ล้านบาท หลังขยายสัญญา 938 วัน เตรียมชง ครม.พร้อมสัญญา 1 และ 2 ส่งผลวงเงินรวมเพิ่มกว่า 1,613.82 ล้านบา เป็น 98,482.15 ล้านบาท
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการรถไฟฯ (บอร์ดรฟท.) ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.
2567 มีมติอนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน งานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อันเนื่องมาจากปัญหาอุปสรรค ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง จำนวน 938 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 847,746,729.42 บาท
พร้อมทั้งอนุมัติในการปรับกรอบวงเงินโครงการรถไฟสายสีแดง เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างงาน สัญญาที่ 1, สัญญาที่ 2, สัญญาที่ 3 รวมกันคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,613,824,075.42 บาท
ทำให้กรอบวงเงินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 อนุมัติจำนวน 96,868,332,434.95 บาท เพิ่มเป็น 98,482,156,510.37 บาท
หลังจากนี้ รฟท.จะรายงานต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป และให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมในการดำเนินงานพร้อมทั้งค้ำประกันเงินกู้
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกลุ่มบริษัท MHSC ประกอบด้วย บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd. บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) เป็นผู้รับจ้าง เริ่มงานก่อสร้างวันที่ 28 มิ.ย. 2559 มีระยะเวลาดำเนินการ 1,440 วัน กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาวันที่ 6 มิ.ย. 2563
โดยมีการขยายเวลาก่อสร้างรวม 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ขยายเวลา 87 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 มิ.ย. 2563-1 ก.ย. 2563 เนื่องจากปัญหาอุปสรรคซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง โดยเป็นความล่าช้าจากการจัดหากระแสไฟฟ้าเพื่อทำการทดสอบและเดินรถเสมือนจริง
ครั้งที่ 2 ขยายเวลา 165 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญา วันที่ 2 ก.ย. 2563-13 ก.พ. 2564 เนื่องจากปัญหาอุปสรรคซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง โดยเป็นความล่าช้าจากการจัดหากระแสไฟฟ้าเพื่อทำการทดสอบและเดินรถเสมือนจริง
ครั้งที่ 3 ขยายเวลา 223 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญา วันที่ 14 ก.พ. 2564-24 ก.ย. 2564 เนื่องจากปัญหาอุปสรรคความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ของสัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง)
ครั้งที่ 4 ขยายเวลา 463 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญา วันที่ 24 ก.ย. 2564-31 ธ.ค. 2565 เนื่องจากความล่าช้าจากการดำเนินงานเพิ่มเติมงานโยธาสถานีรังสิต และงานเชื่อมต่อระบบอาณัติสัญญาณของโครงการกับระบบอาณัติสัญญาณเดิม
โดยกลุ่มบริษัท MHSC เสนอค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563-ธ.ค. 2565 เป็นจำนวนเงิน 2,035.39 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่าย 6 รายการ ได้แก่ ด้านบุคลากร ผู้รับจ้างช่วง ค่าเสื่อมวัสดุและอุปกรณ์การบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งรฟท.ได้มีการตรวจสอบและพิจารณาตามเหตุผลและค่าใช้จ่ายจริง ปรับลดลงเหลือ 847.76 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสัญญาที่ 1 และ 2 นั้น บอร์ด รฟท.ได้มีมติตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2563 อนุมัติค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมการขยายระยะเวลาก่อสร้าง โดยจะเสนอครม.ขอปรับกรอบวงเงินโครงการในคราวเดียวกันทั้ง 3 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง) มี กิจการร่วมค้า เอส ยู, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ขยายเวลาจำนวน 871 วัน (วันที่ 10 ก.ค. 2560-28 พ.ย. 2562) เป็นจำนวนเงิน 680,057,076 บาท สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต) มี บมจ.อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้าง ขยายเวลาจำนวน 215 วัน (วันที่ 10 ก.ค. 2560-10 ก.พ. 2561) เป็นจำนวนเงิน 86,020,270 บาท