อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่ประเทศไทยส่งเสริมการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ผู้ประกอบการเอกชนไทยเผชิญอยู่
บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด เป็นบริษัทคนไทย 100% ที่คร่ำหวอดธุรกิจอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถเกราะล้อยาง รถเกราะสายพาน และรับซ่อม สร้าง ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพยุทโธปกรณ์ในกองทัพเช่น รถสายพานลำเลียงพล M1 13, รถเกราะคอมมานโด V-150 และผลิตยาง Run-lat, ล้อกดสายพานและข้อสายพานรถถัง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันชัยเสรีฯ มีการผลิตส่งออกรถเกราะสัญชาติไทยให้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) และกว่า 40 ประเทศทั่วโลกภายใต้แบรนด์ CHAISERI
นางนพรัตน์ กุลหิรัญ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “มาดามรถถัง” ผู้ก่อตั้ง ชัยเสรี จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก กล่าวว่า เดิมเริ่มทำธุรกิจรับซ่อมรถ และได้รับการชักชวนให้เข้าไปรับซ่อมรถบรรทุกให้กองทัพ เช่น M35 ทำให้รับรู้ว่าส่วนใหญ่รถบรรทุกของกองทัพเสียบ่อยๆ คือ ลูกหมาก จึงตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตและรับซ่อมลูกหมากให้กับรถของทัพบกมาอย่างต่อเนื่อง
ต่อมามีขยายการรับซ่อมสายพานรถถัง ทำให้ต้องเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อเสาะหาอะไหล่สำรองตามโรงงานต่างๆ มีการเรียนรู้และพัฒนาออกแบบผลิตรถยนต์ทางทหาร รถเกราะให้กับกองทัพไทย และส่งออกไปต่างประเทศ เช่น รถเกราะ First Win, AWAV 8x8 ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งบนบกและในน้ำ AWAV ได้รับเลือกในโครงการยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเรือไทย
โดยมีโรงงานผลิต ซ่อมสร้างและปรับปรุงยานยนต์ล้อและยานยนต์สายพานหุ้มเกราะ รวมทั้งข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน ยางนิรภัย Runflat โดยใช้ยางพาราไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 87 ไร่ ตำบลคูคลองหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
นายกานต์ กุลหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการขยายโรงงานเพื่อรองรับโรงงานประกอบ และเป็นสนามทดสอบยานยนต์ล้อที่ผลิตจากบริษัทก่อนส่งมอบให้ผู้จ้างบนพื้นที่ 111 ไร่ ที่หนองแค จังหวัดสระบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
ก่อนหน้านี้ ชัยเสรีฯ มีแผนทำการผลิตยานยนต์สายพานหุ้มเกราะ ร่วมทุนกับผู้ผลิตจากสหรัฐฯ แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 จึงได้ยุติการร่วมทุนดังกล่าวไป
แม้ชัยเสรีฯ มีศักยภาพในการผลิตยานเกราะ รถยนต์ทางทหารเพื่อรองรับความต้องการของกองทัพในไทยและส่งออกราว 40 ประเทศไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากต่างประเทศ คาดว่าปีนี้เติบโตขึ้น 25% เนื่องจากปัจจุบันความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้กองทัพในหลายประเทศมีคำสั่งซื้อและความต้องการทั้งรถถังและรถลำเลียงขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น
แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน เช่น เหล็ก 5% เครื่องยนต์ 10% และช่วงล่าง 30% เพื่อมาผลิตเป็นรถเกราะ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งที่นำเข้ารถเกราะสำเร็จรูปที่เสียภาษี 0% ทั้งๆ ที่การผลิตรถเกราะในประเทศได้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจในไทยสูงถึง 31% แต่รถเกราะนำเข้าต่างประเทศสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทยในรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่านั้น
อีกทั้งเงื่อนไขการส่งเสริม SME ทำให้มีข้อได้เปรียบในการประมูลงานรัฐ 10% แต่การผลิตรถเกราะในประเทศใช้เทคโนโลยีสูง เครื่องมือ และอุปกรณ์ การใช้แรงงานมากจึงไม่เข้าข่าย SME ขณะที่บริษัทตัวแทนนำเข้า (Broker) ได้เปรียบสิทธิ SME และภาษีนำเข้า 0%
ดังนั้น ในฐานะชัยเสรีฯ เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จึงอยากขอให้ภาครัฐยกเลิกสิทธิการสนับสนุน SME ในกรณีเป็นตัวแทน (Broker) หรือการผลิตในประเทศน้อยกว่า 40%, ให้นโยบายการจัดหาแบบเกณฑ์การพิจารณาประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) รวมทั้งผลักดันให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้สิทธิ Free Zone จากปัจจุบันติดขัดข้อกฎหมายยุทธภัณฑ์ของกลาโหม และกรมศุลกากรทำให้ยุทธภัณฑ์ไม่สามารถเข้า Free Zone ได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน เพื่อนำมาประกอบหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในกรณีที่ส่งออก รวมทั้งให้เอ็กซิมแบงก์สามารถปล่อยกู้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำเพื่อแข่งขันในต่างประเทศได้