รฟม.เดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯเริ่ม15 พ.ย.นี้ ปิดเบี่ยงจราจร นำร่อง 5 สถานีแรก “บางขุนนนท์ ศิริราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยมราช และประตูน้ำ “ส่วนที่เหลือเริ่มครบปลายปีนี้ กทม.เตรียมแผนรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง บชน.กังวล ถนนเพรชบุรีกระทบหนัก
วันที่ 1 พ.ย. 2567 พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วยนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสาสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างรับรู้ให้แก่ประชาชนก่อนเริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ด้านตะวันตก มี 11 สถานี เป็นใต้ดินตลอดสาย ซึ่ง รฟม. ได้แจ้งให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ร่วมลงทุน เริ่มงานเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ผู้รับจ้างของ BEM มีกำหนดจะเริ่มเบี่ยงจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคและก่อสร้างกำแพงกันดิน
โดยสถานีบางขุนนนท์ จะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจราจรชิดทางเท้า 1 ช่องจราจรแนวถนนสุทธาวาสตัดกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ส่วนสถานีศิริราช จะเป็นการจัดการจราจรในพื้นที่การรถไฟฯ ด้านใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องจราจร, สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะปิดเบี่ยงจราจร บริเวณถนนราชดำเนิน ฝั่งขาเข้าเมือง ช่วงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงแยกผ่านฟ้า ,สถานียมราช ปิดเบี่ยงจราจรบริเวณหน้าบ้านมนังคศิลา และสถานีประตูน้ำปิดเบี่ยงจราจรบริเวณ หน้าสถานทูตอินโดนีเซีย
@เข้าพื้นที่ครบ 11 สถานีในปลายปี 67
สำหรับอีก 6 สถานีที่เหลือจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรครบทั้งหมด ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งแนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มจะผ่านถนนหลายสายที่มีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่นและมีชุมชน โรงเรียนโดยรอบ รฟม. และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่กำหนดเส้นทางเลี่ยง และเพิ่มมาตรการลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางให้มากที่สุด
“แนวถนนราชดำเนิน จะมีสายสีส้มตัดกับสายสีม่วงใต้ ดังนั้น รฟม.และบชน.ได้นำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อจัดจราจรและทางเลี่ยงเพื่อให้งานก่อสร้าง 2 โครงการมีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ยังมีจุดที่ต้องรื้อสะพานข้ามแยก 3 จุด คือ 1. แยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ 2.แยกราชเทวี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เดือนม.ค. 2568 และ3.สะพานข้ามแยกประตูน้ำ เนื่องจาก พื้นที่ค่อนข้างแคบ ขณะที่แนวอุโมงค์รถไฟจะมาจากแยกราชปรารถและเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จะกระทบต่อการจราจรมาก คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณเดือนมี.ค. 2569 ซึ่งในส่วนของการรื้อและสร้างสะพานใหม่นั้น จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี “
ซึ่งได้หารือกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีแผนปรับปรุงสะพานและขยายสะพานอยู่แล้ว จึงจะพิจารณาเพื่อดำเนินการไปพร้อมกัน โดยจะมีการทดสอบสภาพจราจรในช่วงรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อประเมินและทำแผนการรื้อสะพานต่อไป
นอกจากนี้ รฟม.และผู้รับจ้างได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ให้มากที่สุด จึงได้กำชับให้ผู้รับจ้างลดผลกระทบด้านการจราจร โดยดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเท่าที่จำเป็นในระหว่างดำเนินงาน ติดตั้งป้ายและเครื่องหมายจราจรให้มีความชัดเจนเป็นไปตามมาตรฐาน จัดให้มีอาสาจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแต่ละจุดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการติดตั้งรั้วสูง 2 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้าง ปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้าง/กระบะรถบรรทุกล้างทำความสะอาดถนนสาธารณะสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ใช้รถกวาดดูดฝุ่นทุกวัน ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำแรงดันสูง (High Pressure Water System) ทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดี ติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวในพื้นที่ที่กำหนด เป็นต้น
@ตำรวจ เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูล พร้อมแนะเส้นทางเลี่ยง
พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. กล่าวว่า รฟม. และผู้รับจ้างฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้นำเสนอแผนการจัดจราจรและหารือแนวทางการปิดเบี่ยงจราจรกับ บช.น. และสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อบริหารและจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงระหว่างดำเนินงาน โดยเร่งประชาสัมพันธ์การปิดเบี่ยงจราจร และเส้นทางเลี่ยงที่ให้ประชาชนไปใช้ทดแทน เพื่อสามารถวางแผนในการเดินทางได้
อีกทั้งมีการพิจารณามาตรการบรรเทาความหนาแน่นด้านการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น การปรับทิศทางการสัญจรเป็นพิเศษในบางช่วงเวลา การกำหนดทางลัดทางเลี่ยงเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและช่วยระบายการจราจร บรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยจะจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร พร้อมด้วยอาสาจราจรของผู้รับจ้างฯ ร่วมกันอำนวยความสะดวกกับประชาชนที่ใช้เส้นทาง รวมถึงจะร่วมกันเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ตลอดระยะเวลาก่อสร้างเพื่อพิจารณาจัดรูปแบบการจราจรต่างๆ ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ลดผลกระทบต่อประชาชนผู้สัญจรทางถนนเป็นสำคัญ
พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. กล่าวว่า จุดที่กังวลคือแนวถนนเพชรบุรี ที่ปัจจุบันมีปริมาณจราจรหนาแน่น จึงต้องประเมินและวางแผนร่วมกันเพื่อหาทางให้มีผลกระทบต่อการสัญจรน้อยที่สุด
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในภาพรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 ร้อยละ 1.90 โดยเป็นไปตามแผนงาน
พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. กล่าวว่า จุดที่กังวลคือแนวถนนเพชรบุรี ที่ปัจจุบันมีปริมาณจราจรหนาแน่น จึงต้องประเมินและวางแผนร่วมกันเพื่อหาทางให้มีผลกระทบต่อการสัญจรน้อยที่สุด
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในภาพรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 ร้อยละ 1.90 โดยเป็นไปตามแผนงาน