- • บอร์ด รฟม. เห็นชอบต่ออายุมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 20 บาท อีก 1 ปี
- • จะเสนอให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาอนุมัติ ก่อนหมดอายุ 30 พ.ย. 67
- • ค่าโดยสาร 20 บาท มีผลกับผู้โดยสารอย่างเห็นได้ชัด โดยปีแรกผู้โดยสารเพิ่มเฉลี่ย 6.6 หมื่นคนต่อวัน
- • คาดว่าปีที่ 2 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7%
บอร์ด รฟม.เห็นชอบต่อมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท MRT สายสีม่วงอีก 1 ปี เตรียมชงคมนาคมเสนอครม.ก่อนหมดอายุ 30 พ.ย. 67 เผยผ่านปีแรกแนวโน้มผู้โดยสารเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6 หมื่นคนต่อวัน คาดปีที่ 2 เติบโตไม่น้อยกว่า 7%
นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีนายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นประธาน วันที่ 29 ต.ค. 2567 มีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการ อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 20 บาท และระบบรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) โดยใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที เป็นระยะเวลา 1 ปี หลังมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ย. 2567 นี้ โดยจะทำให้มาตรการขยายออกไปสิ้นสุดลง วันที่ 30 พ.ย. 2568
ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ได้เริ่มดำเนินการมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท พบว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 17.70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเริ่มมาตรการ โดยปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 66,000 คนเที่ยวต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลของการดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ได้อย่างชัดเจน
คาดการณ์ว่าในการดำเนินการปีที่ 2 จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไม่น้อยกว่า 7% หรือไปอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 70,000 คนเที่ยวต่อวัน ในขณะที่ รฟม.มีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าจ้างเดินรถสายสีม่วง ประมาณเดือนละเกือบ 300 ล้านบาท การลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาท มีผลทำให้รายได้ของสายสีม่วงลดลงด้วย แต่จำนวนผู้โดยสารมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้รายได้กลับมาคุ้มทุนใน 2-3 ปี หรือมีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 90,000 คนเที่ยวต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเรื่องซื้อคืนสัมปทาน ซึ่งทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดการเดินทางทุกสาย หากมีการดำเนินการจะทำให้โมเดลของรถไฟฟ้าเปลี่ยนไปรวมถึงต้นทุนในการดำเนินงานเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
นายวิทยากล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ รฟม.ในช่วงที่ผ่านมามีกำไรเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้สัมปทาน MRT สายสีน้ำเงิน รายได้ค่าโดยสาร สีม่วง รายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์ งบประมาณประจำปี เงินกู้ ขณะที่มีรายจ่ายค่าดำเนินการ ค่าจ้างเดินรถสีม่วง ค่าเวนคืน ค่าก่อสร้าง หนี้ค่าดอกเบี้ย ซึ่งในแต่ละปี รฟม.ได้รับงบประมาณในส่วนของค่าเวนคืนและค่าก่อสร้าง ต่ำกว่าที่เสนอ จึงต้องนำกำไรสะสมมาช่วยสนับสนุน ขณะที่ในปีงบประมาณ 2568 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก ภาษีที่ดินที่ต้องจ่ายอัตราปกติ ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ได้รับส่วนลด 90% เพื่อลดผลกระทบโควิดและมีภาระค่าเวนคืน เนื่องจากที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 50% (จากวงเงินที่ต้องใช้ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประมาณ 5,000 ล้านบาท) ซึ่งทำให้รฟม.ต้องนำกำไรสะสมที่มีมาชดเชยอุดหนุนในส่วนที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ โดยปัจจุบันมีกำไรสะสมอยู่ที่ ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท