- • แพทองธาร ชินวัตร โต้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยืนยันโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in Tariff (FiT) 3,600 เมกะวัตต์ ต้องทำแบบโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน
- • ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นศาลปกครองวันที่ 30 ต.ค. เพื่อให้ กกพ. ระงับการเปิดประมูลซื้อไฟฟ้า โดยอ้างเหตุผลว่าโครงการ FiT ไม่โปร่งใส
“แพทองธาร” โต้ “ธนาธร” ยันโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) 3,600 เมกะวัตต์ ต้องทำแบบโปร่งใส ไม่เอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ด้านศรีสุวรรณจ่อยื่นศาลปกครองวันที่ 30 ต.ค.เพื่อให้ กกพ.ระงับการเปิดประมูลซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ เอื้อนายทุนและดันค่าไฟฟ้าสูงขึ้น “กกพ.” ระบุหากยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้า RE จะสร้างความเสียหายและเกิดการฟ้องร้องตามมา ชี้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเพื่อป้อนนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้ไฟฟ้า RE
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ส่งหนังสือเปิดผนึกเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 (เพิ่มเติม) 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานว่า เรื่องนี้ยังไม่ถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่ตนเป็นประธาน แต่ได้สอบถามและพูดคุยกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ที่กำกับดูแลแล้ว
พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้จะต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุน พร้อมยินดีให้ตรวจสอบ เพราะนั่นคือความมั่นคงของรัฐบาลด้วย
“จริงๆ ก่อนที่นายธนาธรจะออกมาพูดได้มีการตอบคำถามเรื่องนี้ในสภาแล้วจากการตั้งกระทู้ถาม คิดว่าประชาชนหาข้อมูลตรงนั้นได้อย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีกระบวนการของมันอยู่แล้ว” นายกฯ กล่าว
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ทางสมาคมฯ จะยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ระงับและยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนพลังงานในโครงการยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 รวม 2,180 เมกะวัตต์ (MW) โดยรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมไม่เกิน 600 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินอีกไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศไว้
ซึ่งการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มีล้นระบบอยู่มากถึง 50,625 MW โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP มีไม่เกิน 3% เท่านั้น อีก 20 ปีข้างหน้าไทยก็ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์หากเศรษฐกิจไทยยังโตได้เพียงเท่านี้
การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเป็นเรื่องที่รัฐบาลร่วมกับนายทุนพลังงาน ในการหาเหตุผลใหม่ๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาขายไฟให้รัฐเท่านั้น ทั้งๆ ที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ แต่ก็ถูกกีดกันออกไปจนไม่สามารถเข้ามาผลิตแทนในราคาถูกได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าที่แพงจากเอกชนถูกนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายในค่าเอฟที ทุกบิลเก็บค่าไฟฟ้าทั่วประเทศนั่นเอง
ดังนั้น ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าแพง จึงมาร้องสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนให้ช่วยฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับและยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนพลังงาน
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้นว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาหารือกับรัฐบาลไทยเพื่อเตรียมแผนลงทุนในประเทศไทย เพราะมองว่าไทยมีแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของนักลงทุนต่างชาติได้ ซึ่งขณะนี้สัดส่วนพลังงานทดแทนยังน้อย รวมทั้งจะเน้นจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) เพื่อป้อนนักลงทุนเป็นหลัก
ดังนั้น หากต้องกลับมารื้อใหม่ทั้งพลังงานหมุนเวียน (RE) รอบแรกที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว ย่อมเกิดความเสียหาย ทั้งต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า และนักลงทุน เห็นได้จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม ที่เลื่อนลงนามมา 2 ปี ได้สร้างความเสียหาย และคาดว่าย่อมเกิดการฟ้องร้องตามมา
ที่ผ่านมา กกพ.ดำเนินการตามมติ กพช.ที่ต้องการเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเข้าระบบ เพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ หากรัฐบาล หรือกระทรวงพลังงาน มองว่าจำเป็นต้องรื้อหลักเกณฑ์ ก็ต้องปรับแก้ตั้งแต่มติ กพช.
ซึ่งค่าไฟฟ้าที่แพง สาเหตุไม่ได้เกิดจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพราะการประมูลไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบแรกที่ 5,000 เมกะวัตต์ ในส่วนของพังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ย 2.10 บาทต่อหน่วย พลังงานลมเฉลี่ย 3 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวกันการเปิด RE ทั้งรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ และ RE รอบสอง 3,600 เมกะวัตต์ เป็นไปตามมติ กพช. ที่เตรียมสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่มีแผนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว