“สุริยะ”เผย แก้สัญญา”ไฮสปีด 3 สนามบิน” ยังไม่เข้าครม. คาดไม่เกิน 2 สัปดาห์ต้องเข้า หวั่นยิ่งช้ากระทบโปรเจ็กต์”อู่ตะเภาเมืองการบิน” วงในเผยแก้สัญญาสะดุด พรรคร่วมฯ ยังไม่เห็นด้วยคาดเพื่อไทยเร่งเคลียร์ภายใน 2 สัปดาห์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ยังไม่มีการเสนอการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการ (บอร์ด) นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 และมีมติเห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการใน 5 ประเด็นไปแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
นายสุริยะกล่าวว่า ถ้าไม่รีบเจรจาและเห็นชอบการแก้ไขสัญญา กำหนดที่วางไว้ว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571 จะเลื่อนออกไปอีก เพราะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะสอดคล้องกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถ้ารถไฟความเร็วสูงไม่เกิด อาจจะถูกเอกชนในโครงการสนามบินอู่ตะเภาฟ้องร้องได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องแก้ไขสัญญา จะสามารเสนอครม.เห็นชอบได้เมื่อไร นายสุริยะกล่าวว่า คาดว่าไม่เกิน 1-2 สัปดาห์นี้ จะเสนอให้ครม.เห็นชอบได้แน่นอน เมื่อเห็นชอบแล้ว ทางอีอีซีก็จะกลับไปคุยกับเอกชนอีกครั้ง แล้วนำกลับมาให้ที่ประชุมครม.รับทราบการเจรจาอีกครั้ง รวมถึงความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2568
สำหรับ มติบอร์ดอีอีซี เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม จ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ แล้ว รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นเวลา 10 ปี ปีละเท่าๆ กัน รวมเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเป็นงวด ตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท (สำหรับค่างานโยธาและค่าระบบรถไฟฟ้า) เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน
2. กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้
5. การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่นนั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ตามแผนงานเดิม กำหนดว่าจะมีการเสนอครม.ในวันที่ 29 ต.ค. 2567 เพื่อเห็นชอบหลักการ การแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพราะหลังจากนั้นจะมีขั้นตอน ในการส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาที่ปรับปรุงแก้ไข จากนั้น ต้องนำเสนอ กพอ.หรือบอร์ดอีอีซี และ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง โดยคาดว่าจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขได้ภายในเดือนธ.ค. 2567 และออก NTP ให้เริ่มงานได้ไม่เกินเดือนม.ค. 2568
ซึ่งแหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถเสนอครม.เห็นชอบหลักการแก้ไขสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในวันที่ 29 พ.ย. 2567 ได้ เนื่องจากยังมีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีการเปิดเผยถึงเหตุผลที่พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยในการเสนอครม.ขออนุมัติ อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลน่าจะเคลียร์ใจกับพรรคร่วมรัฐบาลได้
สำหรับการเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบการแก้ไขสัญญา จะต้องเสนอ 2 ครั้ง โดยครั้งแรก ครม.จะต้องพิจารณาในหลักการตามที่บอร์ดกพอ. ซึ่งจะเป็นการแก้ไขมติครม.เดิมเมื่อปี 2561 จากนั้นทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องนำหลักการที่ ครม.อนุมัติไปเจรจากับ บจ.เอเชีย เอราวัน (ซี.พี.) อีกครั้ง เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่มีประเด็นอะไรแล้ว ทางรฟท.จะต้องส่งร่างสัญญาที่ได้การอนุมัติในหลักการจาก ครม. ไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบในถ้อยคำและเงื่อนไขต่างๆที่มีการแก้ไข ซึ่งในกระบวนการนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
โดยเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบร่างสัญญาแล้ว ทางรฟท.จะต้องส่งร่างสัญญาที่ได้รับการตรวจทานไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเสนอให้ ครม.อนุมัติร่างสัญญาที่ได้รับการแก้ไขอีกครั้ง หลังจากนั้น จึงจะลงนามแก้ไขสัญญากับเอกชน