xs
xsm
sm
md
lg

“อุ๊งอิ๊ง” นั่ง ปธ.บอร์ดอีวีชุดใหม่ เร่งเพิ่มมาตรการกู้วิกฤตตลาดรถดิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • แพทองธารตั้งบอร์ดอีวีชุดใหม่ เพื่อเร่งแก้ปัญหาตลาดรถยนต์อีวี
  • • นายกฯเป็นประธานบอร์ด
  • • เป้าหมายคือ แก้ปัญหาตลาดรถยนต์อีวีที่ชะลอตัวและหาแนวทางสนับสนุนค่ายรถรายเดิมและผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงผู้ผลิตอีวีให้สามารถอยู่รอดได้
  • • นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงการตั้งบอร์ดชุดใหม่นี้


“แพทองธาร” เป็นประธานตั้งบอร์ดอีวีชุดใหม่เพื่อเร่งแก้ปัญหาต่างๆ หลังภาพรวมตลาดรถยนต์ดิ่ง รวมทั้งหามาตรการสนับสนุนให้ค่ายรถรายเดิมและชิ้นส่วนฯ กลุ่มผู้ผลิตอีวีอยู่รอด

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ชุดใหม่ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน โดยมีเลขาฯ บีโอไอเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้ช่วยเลขานุการจาก 3 หน่วยงาน คือผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และอธิบดีกรมสรรพสามิตที่ได้เพิ่มเติมในบอร์ดอีวีด้วย

มีโจทย์สำคัญที่รอให้บอร์ดอีวีเร่งแก้ไข เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีซัปพลายเชนยาว โดยอุตสาหกรรมรถยนต์มีการจ้างงานสูงถึง 8-9 แสนคน และมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ


เนื่องจากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ทุกรัฐบาลให้การสนับสนุนบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์เครื่องสันดาป หรือรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ แต่ปัจจุบันยอดขายรถยนต์รวมลดลง 20% รถกระบะลดลง 40% เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 90% ทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อซื้อรถ ดังนั้นบีโอไอได้ปรับเพิ่มมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทผลิตชิ้นส่วนรายเดิมให้เกิดการอัปเกรดการผลิตด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทรถยนต์ 3-4 ค่ายยื่นขอฯ มาแล้ว ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการรถอีวีที่อยู่ระหว่างตั้งไข่ก็มีมาตรการช่วยเพื่อให้บริษัทเติบโตต่อไปได้เช่นกัน โดยพิจารณาภาษีสรรพสามิต 6% คงที่สำหรับรถยนต์ไฮบริด โดยมีข้อแม้ต้องลงทุนเพิ่ม ใช้ชิ้นส่วนสำคัญภายในประเทศ ติดตั้งระบบปลอดภัยและลดการปล่อยคาร์บอนฯ ส่วนบีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตไทยกับต่างชาติ

รวมทั้งเตรียมออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรถยนต์และชิ้นส่วนฯ รายใหญ่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ให้คำปรึกษา อบรม โดยนำค่าใช้จ่ายมารับสิทธิฯ ได้ รวมทั้งส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันค่ายรถ EV มีการใช้ชิ้นส่วนฯ ในประเทศ 40-45% รวมทั้งบอร์ดอีวีต่อพิจารณาเรื่องที่ค่ายรถอีวีที่ตั้งโรงงานไทยไม่สามารถผลิตรถอีวีชดเชยตามปริมาณการนำเข้ารถอีวีมาจำหน่ายในไทยได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดเนื่องจากยอดขายรถอีวีปรับลดลง


นายนฤตม์กล่าวต่อไปว่า ขณะที่กระแสการย้ายฐานการผลิตและปรับโครงสร้าง Supply Chain ครั้งใหญ่ของโลก ส่งผลให้มีบริษัทผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) รายใหญ่จำนวนมากตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ไทยได้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกนับตั้งแต่ปี 2566

อุตสาหกรรม PCB เป็นหนึ่งในอุตฯ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก PCB ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น

บริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่งคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ NOK Corporation สัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม PCB ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น และอันดับ 6 ของโลก โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดยืดหยุ่น (Flexible Printed Circuit Board: FPCB และ FPCBA) ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่โค้งงอให้เข้ากับพื้นที่และรูปทรงที่ซับซ้อนได้ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กอย่างสมาร์ทคอนแทกต์เลนส์ ไปจนถึงแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

โดยเม็กเท็คที่ได้รับการส่งเสริมใหม่เป็นการขยายกำลังการผลิต FPCB และ FPCBA รองรับคำสั่งซื้อในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น มีเงินลงทุน 920 ล้านบาท ทำให้เม็กเท็คมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 5,800 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนขยายการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี และการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของโรงงานอีก 200 ล้านบาทต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น