xs
xsm
sm
md
lg

“สายสีส้ม” เข้าพื้นที่แล้วลุยสำรวจสาธารณูปโภค ปักธง ก.พ. 68 เปิดไซต์ก่อสร้างจุดแรก 'ประตูน้ำ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • สายสีส้ม:
  • • เข้าพื้นที่ก่อสร้างเร็วกว่าแผน 1 เดือน
  • • เริ่มสำรวจระบบสาธารณูปโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
  • • เปิดไซด์ก่อสร้างจุดแรกที่ "ประตูน้ำ"
  • • เร่งหารือกรุงเทพมหานครเพื่อรื้อสะพานข้ามแยกถนนเพชรบุรี
  • • สายสีม่วงใต้:
  • • ก่อสร้างเร็วกว่าแผน
  • • เตรียมสรุปผลศึกษาเดินรถและเสนอต่อบอร์ดในเดือนพฤศจิกายน 2567


รฟม.เผย "สายสีส้ม" เข้าพื้นที่เร็วกว่าแผน 1 เดือน ลุยสำรวจระบบสาธารณูปโภคปักธง ก.พ. 68  เปิดไซต์ก่อสร้างจุดแรก "ประตูน้ำ" เร่งหารือ กทม.รื้อสะพานข้ามแยก ถ.เพชรบุรี ส่วนสีม่วงใต้สร้างเร็วกว่าแผน เตรียมสรุปผลศึกษาเดินรถ ชงบอร์ด พ.ย. 67  

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่รฟม.ได้ออกหนังสือเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
หรือ BEM ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้วนั้น ขณะนี้ทาง BEM อยู่ระหว่างเตรียมการจัดหาระบบไฟฟ้า-เครื่องกล (M&E) สำหรับช่วงตะวันออก จากศูนย์วัฒนธรรมฯ- มีนบุรี มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน โดยจะเร่งเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2570 หรือในต้นปี 2571 

ส่วนการก่อสร้างงานโยธา อุโมงค์และสถานีใต้ดิน พร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตกจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ขณะนี้ได้เข้าพื้นที่สาธารณะที่ได้รับมอบจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ซึ่งเร็วกว่าแผนประมาณ 1 เดือน โดยจะเป็นขั้นตอนการเข้าสำรวจระบบสาธารณูปโภค ท่อประปา ระบบสื่อสารต่างๆ เพื่อวางแผนในการรื้อย้าย โดยมีระยะเวลารื้อย้ายประมาณ 4-9 เดือน ส่วนพื้นที่เวนคืนจะเริ่มดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2568 ดำเนินการในปีแรก สายสีส้ม ส่วนตะวันตก มีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ กรอบวงเงิน 14,661 ล้านบาท  ประกอบด้วยมีที่ดินต้องเวนคืน 380 แปลง อสังหาริมทรัพย์ 410 แปลง และต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 400 หลัง  

นายวิทยากล่าวว่า ตามแผนจะเริ่มการก่อสร้างงานโยธาจุดแรก คือ บริเวณประตูน้ำ ในเดือน ก.พ. 2568 นอกจากนี้ จะมีการหารือกับ กทม.ในการรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง ได้แก่ สะพานข้ามแยกประตูน้ำ แยกราชเทวี และแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ และการก่อสร้างในพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ ที่คาดว่าใต้ดินอาจจะมีโบราณสถาน หรือวัตถุโบราณ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากรที่ต้องวางแผนดำเนินการร่วมกัน โดยงานโยธาจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการด้านตะวันตกได้ปลายปี 2573 


@สรุปผลศึกษาเดินรถสายสีม่วงใต้ ชงบอร์ด พ.ย. 67

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทางรวม 23.63 กม. ความก้าวหน้างานโยธา สิ้นเดือน ก.ย. 2567 ภาพรวม 42.18% ถือว่างานมีความก้าวหน้าเร็วกว่าแผน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571 โดยในส่วนของการเดินรถนั้น รฟม.มีการศึกษาเบื้องต้นรูปแบบการคัดเลือกเอกชน ซึ่งยังคงหลักการ ให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง(Through Operation) เพื่อความปลอดภัย โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ที่คลองบางไผ่ ให้บริการตลอดเส้นทางทั้งสีม่วงเหนือ และสีม่วงใต้

คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาการเดินรถสายสีม่วงใต้ เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ในเดือน พ.ย. 2567 จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ต่อไป คาดว่าจะได้รับการอนุมัติและเริ่มกระบวนการคัดเลือกผู้รับสัมปทานในต้นปี 2568 ได้ตัวผู้รับสัมปทานต้นปี 2569 เปิดให้บริการปี 2572

ผู้สื่อข่าวถามว่า การคัดเลือกผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีม่วงใต้จะต้องรอนโยบายซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า และเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า การคัดเลือกผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีม่วงใต้นั้น รฟม.จะเดินหน้าตามกรอบที่กำหนด เนื่องจากการก่อสร้าง สายสีม่วงทั้ง 6 สัญญามีความก้าวหน้า งานโยธาภาพรวมกว่า 42.18% แล้ว ดังนั้นการคัดเลือกผู้รับสัมปทานเดินรถต้องดำเนินการให้พอดีกับงานโยธาที่จะแล้วเสร็จเพื่อเปิดบริการได้ตามกำหนด

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กม.
จำนวน 2 สถานี ความก้าวหน้า ณ สิ้นเดือนก.ย. 2567 ในภาพรวม 71.09% งานโยธา มีความก้าวหน้า 76.29% งานระบบรถไฟฟ้ามีความก้าวหน้า 60.84% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย. 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น