xs
xsm
sm
md
lg

สร้างแล้ว 70% สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ทช.คาดเสร็จ พ.ค.68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ความคืบหน้า: 70%
  • • งานที่เหลือ: พื้นสะพาน และติดตั้งโครงสร้างสะพานเหล็ก
  • • คาดเสร็จ: พฤษภาคม 2568
  • • ผลลัพธ์: เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง แก้ปัญหาจราจรติดขัด


กรมทางหลวงชนบท เผยสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี คืบหน้า 70% คงเหลืองานพื้นสะพาน งานติดตั้งโครงสร้างสะพานเหล็ก คาดเสร็จเดือน พ.ค. 2568 เพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวในการเดินทาง แก้ไขปัญหาคอขวด - การจราจรติดขัด

นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบท อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,181.515 ล้านบาท ซึ่งมีความคืบหน้า 70% โดยคงเหลืองานพื้นสะพาน งานติดตั้งโครงสร้างสะพานเหล็ก คาดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้กับประชาชน แบ่งเบาปริมาณการจราจร ลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้การเดินทางของประชาชนเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย


ปัจจุบันถนนราชพฤกษ์ช่วงเชื่อมต่อถนนเพชรเกษม – ถนนรัตนาธิเบศร์ มีปริมาณการจราจรต่อวันมากถึง 120,000 คัน แต่เนื่องจากถนนสายดังกล่าว มีศักยภาพที่จะรองรับการจราจรได้เพียง 60,000 คันต่อวัน จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีข้อจำกัดในด้านเขตทาง ไม่สามารถก่อสร้างทางขนานเพิ่มเติมได้ ส่งผลให้การจราจรเกิดสภาพเป็นคอขวด ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี คร่อมสะพานเดิม ขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง


โดยโครงสร้างเสาและโครงสร้างส่วนบนเป็นโครงสร้างเหล็ก ความกว้าง 8.50 เมตร ฝั่งขาเข้ามีความยาวประมาณ 2.10 กิโลเมตร และฝั่งขาออกมีความยาวประมาณ 1.90 กิโลเมตร ความยาวช่วงสะพานอยู่ระหว่าง 30 - 60 เมตร รวมทั้งก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และงานเบ็ดเตล็ด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ระหว่างแขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร กับตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ กม.ที่ 12+850 ถึง กม.ที่ 15+100


ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวของถนนราชพฤกษ์ ให้เกิดการกระจายของปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณคอขวดได้อย่างยั่งยืน ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังยกระดับความปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวในการสัญจรอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น