xs
xsm
sm
md
lg

อีอีซี จับมือจุฬาฯ -เอกชนพัฒนาเทคโนโลยี AI อำนวยความสะดวกนักลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เป้าหมาย: อำนวยความสะดวกจูงใจนักลงทุนครบมิติ เสริมศักยภาพดึงการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี
  • • แนวทาง: สกพอ. ร่วมมือกับ จุฬาฯ และภาคเอกชน นำเทคโนโลยี AI มาใช้
  • • ผลประโยชน์:
  • • เพิ่มความสะดวกในการลงทุน
  • • จูงใจนักลงทุน
  • • ยกระดับศักยภาพอีอีซี
  • • ดึงดูดการลงทุนมากขึ้น


สกพอ. ผนึกกำลัง จุฬาฯ และภาคเอกชน วางแผนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อำนวยความสะดวกจูงใจนักลงทุนครบมิติ เสริมศักยภาพดึงการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กรรมการบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด ร่วมกัน
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการบริการนักลงทุน ระหว่าง สกพอ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เบดร็อก อนาไลติกส์ จำกัด เพื่อยกระดับการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมเข้ามาในการวางแผนพัฒนา บริหารจัดการในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ บูรณาการด้านข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้บริหารจากทั้ง 3 หน่วยงาน ร่วมเป็นพยาน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงาน ณ อาคารวานิชเพลซ อารีย์ กรุงเทพฯ
 
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ MOU ในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีอีซี โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบจัดการที่ดิน การขอใบอนุญาตต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ด้านบริการ มุ่งเน้นสร้างระบบแชทบอท เพื่อให้บริการข้อมูลตอบคำถามได้ทันท่วงที การออกใบอนุญาตดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ ด้านข้อมูล มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ภายในและภายนอกองค์กร สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลแบบเปิด ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบด้านไอที เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง การจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น
 


ทั้งนี้ สกพอ. จุฬาฯ และบริษัท เบดร็อคฯ จะได้ประสานความร่วมมือเพื่อการวางแผนพัฒนา สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับวิเคราะห์และบริหารจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อการตัดสินใจ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ สนับสนุนให้เกิดการลงทุน และจะใช้เป็นต้นแบบไปยังเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ในพื้นที่อีอีซี ต่อไป


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้

ทั้งนี้ จุฬาฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังสนับสนุนบุคลากรให้ร่วมศึกษา และวางแผนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลและงานวิจัยที่ได้จากการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลง จะถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอน โดยทางจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้


ด้าน ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กรรมการบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดย เบดร็อค ได้นำเสนอแนวทางด้านการบริหารจัดการเมืองและการลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่ อีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร

ได้แก่ 1. Smart Building Permit : ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ซึ่งเป็นนวัตกรรรมที่ผสานเทคโนโลยี AI และข้อมูลเชิงพื้นที่เข้าด้วยกัน นับเป็นเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติวงการก่อสร้างและการบริหารจัดการเมืองผ่านการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากและช่วยในการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ทำให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างรวดเร็วและโปร่งใสขึ้น 2.City Digital Data Platform : แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองที่รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกมาไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร ทำให้การค้นหา วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่อีอีซี ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเอื้อให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปได้อย่างแม่นยำอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น