- • เป้าหมาย: เพิ่มขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็น 14 ขบวนต่อวัน
- • ความคืบหน้า: ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด
- • รถโดยสาร: รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) มีผู้โดยสารแล้วกว่า 1.3 หมื่นคน
- • เป้าหมายหลัก: ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งทางรางอาเซียน
การรถไฟฯ"ไทย – ลาว"ติดตามความคืบหน้า ขยายขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 14 ขบวนต่อวันตามเป้า ส่วนรถโดยสาร กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) มีผู้โดยสารแล้วกว่า 1.3 หมื่นคน“วีริศ” ย้ำเร่งผลักดันหนุนไทย ศูนย์กลางขนส่งทางรางใน อาเซียน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้ประชุมหารือกับนายดาวจินดา สีหาราด ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว พร้อมคณะ ถึงความคืบหน้าภายหลังลงนาม “บันทึกการดำเนินการด้านเทคนิคสำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ในการขยายขีดความสามารถการขนส่งและโดยสารทางรถไฟข้ามแดนไทย – ลาว เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น และพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานทุกด้านร่วมกับจตุภาคี เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรางได้อย่างไร้รอยต่อ
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันบริหารจัดการขบวนรถสินค้าระหว่างประเทศ ให้ถึงเป้าหมายไป-กลับ 14 ขบวนต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการและถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง และสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงจะพิจารณาเพิ่มจำนวนการขนส่งให้มากขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ส่วนด้านการโดยสาร การรถไฟฯ จะเพิ่มตู้โดยสาร รถนั่ง/นอนปรับอากาศ จำนวน 1 ตู้ พ่วงไปกับขบวนรถเร็วที่ 133/134 เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 13,000 คน
นอกจากนี้ การรถไฟฯ จะมอบแคร่ที่ปลดระวางให้กับรถไฟลาว เพื่อนำไปปรับปรุงและใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างสถานีท่านาแล้ง ถึงสถานีหนองคายด้วย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน
“ความร่วมมือระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งการรถไฟฯ ยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้าน เพื่อเร่งผลักดันการขนส่งทางรางร่วมกับจตุภาคี ให้เชื่อมโยงได้อย่างไร้รอยต่อ เพราะจะช่วยเสริมศักยภาพโครงข่ายคมนาคมทางรางให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต.” นายวีริศ กล่าว