“มนพร” ตรวจ "สนามบินอุดรธานี" เร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรับนักท่องเที่ยวไฮซีซัน ประสาน ขบ.จัดรถโดยสารเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว จับมือ ททท.จัดกิจกรรมกระตุ้นนักท่องเที่ยว จี้สนามบินภูมิภาคอีก 23 แห่งเร่งพัฒนามาตรฐาน รับใบรับรอง ICAO
วันที่ 17 ต.ค. 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานอุดรธานี ว่า จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ช่วงปลายปีนี้ จึงได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยจัดพื้นที่ให้บริการให้มีความคล่องตัว รวมถึงเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำผู้โดยสารถึงวิธีการใช้ระบบตรวจบัตรโดยสาร
นอกจากนี้ มอบหมายให้จัดเตรียมพื้นที่และจัดระเบียบบริการขนส่งสาธารณะภายในท่าอากาศยานให้มีความคล่องตัว กำหนดจุดจอดรับ-ส่ง และเวลาในการจอดให้ชัดเจน โดยประสานงานกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไปยังสถานที่ภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงให้ประสานตำรวจท่องเที่ยวเข้ามาร่วมดูแลอำนวยความสะดวกผู้โดยสารด้วย
นอกจากนี้ ได้เร่งรัดให้ ทย.หารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยใช้พื้นที่ท่าอากาศยานอุดรธานีจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ท่าอากาศยานมีสีสัน และแสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้ท่าอากาศยานอุดรธานีเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE CITY) ด้วย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากจังหวัดอุดรธานีได้ผ่านการประเมินสถานที่จัดงานในประเทศไทยตามมาตรฐาน Thailand MICE Venue Standard จากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ โดยได้รับการประกาศให้เป็นเมืองศูนย์กลาง MICE CITY ลำดับที่ 8 จากทั้งหมด 10 เมืองของประเทศไทย และกำลังเติบโตเป็นศูนย์กลาง MICE CITY ที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เนื่องจากมีสถานที่จัดงานที่ทันสมัย โรงแรมมีมาตรฐาน รวมถึงการคมนาคมที่สะดวกสบาย
@เร่งสนามบินอีก 23 ปรับปรุงมาตรฐาน ใบรับรองสนามบินสาธารณะ
นางมนพรกล่าวว่า ยังได้สั่งการให้ ทย. เตรียมความพร้อมของท่าอากาศยานทุกแห่งภายใต้การกำกับดูแลทั้งหมด 29 แห่ง เพื่อรองรับช่วงไฮซีซัน โดยให้ท่าอากาศยานที่ยังไม่ได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะ จำนวน 23 แห่ง จากปัจจุบันได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะแล้ว จำนวน 3 แห่ง (ส่วนอีก 3 แห่งไม่ได้เปิดให้บริการ คือ ท่าอากาศยานตาก, ท่าอากาศยานแม่สะเรียง และท่าอากาศยานปัตตานี) โดยจะต้องเร่งกระบวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรักษาและปรับปรุงการให้บริการด้านความปลอดภัยตามที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนด เพื่อรองรับการตรวจของ องค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO)
นอกจากนี้ ให้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้าง รวมถึงเร่งรัด ปรับปรุงท่าอากาศยานให้แล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการผู้โดยสารโดยเร็ว ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการก่อสร้างนั้น ต้องไม่ให้กระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารโดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วน เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสารในบริเวณที่มีปัญหา อีกทั้งยังได้เร่งรัดตรวจสอบอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในท่าอากาศยานให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบปรับอากาศ เป็นต้น รวมไปถึงยังต้องปรับปรุงป้ายบอกทางภายในอาคารที่พักผู้โดยสารให้สวยงาม ชัดเจน ครบถ้วน รวมถึงจัดให้มีผู้ประกอบการในกิจกรรมที่ยังไม่มี เช่น รถสาธารณะ ภายในท่าอากาศยาน เพื่อเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
“ให้ ทย.จัดระเบียบการให้บริการรถสาธารณะ อาคาร และลานจอดรถยนต์ โดยเน้นย้ำภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนให้มีความพร้อมในการให้บริการ มีความสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส เรียบร้อย และทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการในทุกพื้นที่ เช่น ห้องน้ำที่จะต้องมีความสะอาด มีไฟส่องสว่าง และมีความสะดวกสบาย เป็นต้น อีกทั้ง ต้องจัดระเบียบร้านค้า รวมถึงการควบคุมราคาไม่ให้เอาเปรียบผู้มาใช้บริการด้วย”
สำหรับพื้นที่กิจกรรมของท่าอากาศยาน ต้องจัดให้มีจุดเช็กอิน ป้ายต้อนรับสู่ท่าอากาศยานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัด เพื่อดึงดูดให้ผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ และจัดให้มีพื้นที่กิจกรรมของจังหวัดและท้องถิ่นผ่านความร่วมมือกับทางจังหวัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก เช่น วันหยุด วันนักขัตฤกษ์ และช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้งต้องจัดให้มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความรับรู้ของประชาชนต่อการให้บริการของท่าอากาศยานด้วย
รายงานข่าวจาก ทย.ระบุว่า สำหรับท่าอากาศยานที่ยังไม่ได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะ จำนวน 23 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานน่านนคร จ.น่าน, ท่าอากาศยานปาย จ.แม่ฮ่องสอน, ท่าอากาศยานพิษณุโลก, ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์, ท่าอากาศยานแพร่, ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก, ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน, ท่าอากาศยานลำปาง, ท่าอากาศยานขอนแก่น, ท่าอากาศยานนครพนม ,ท่าอากาศยานนครราชสีมา, ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด, ท่าอากาศยานเลย, ท่าอากาศยานสกลนคร, ท่าอากาศยานอุบลราชธานี, ท่าอากาศยานอุดรธานี, ท่าอากาศยานกระบี่, ท่าอากาศยานชุมพร, ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช, ท่าอากาศยานตรัง, ท่าอากาศยานนราธิวาส, ท่าอากาศยานระนอง และท่าอากาศยานหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์