- • อธิบดีกรมเจ้าท่าลงพื้นที่ตรวจความพร้อมท่าเรือ โป๊ะเทียบเรือ และภูมิทัศน์ริมสองฝั่งเจ้าพระยา
- • เพื่อรองรับพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค 27 ต.ค.นี้
- • เน้นตรวจสอบความปลอดภัย ความสะอาด และความสวยงามของพื้นที่
อธิบดีกรมเจ้าท่าลงพื้นที่ตรวจความพร้อมท่าเรือ โป๊ะเทียบเรือ และภูมิทัศน์ริมสองฝั่งเจ้าพระยารองรับพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค 27 ต.ค.นี้
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ได้กำหนดการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยในริ้วขบวนมีเรือจำนวน 52 ลำ จัดเป็น 5 ริ้ว 3 สาย โดยประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และจัดเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือเชิญผ้าพระกฐิน พร้อมด้วยเรือรูปสัตว์แสนยากรตามราชประเพณี
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ซึ่งงานพระราชพิธีฯ ดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญยิ่งตามโบราณราชประเพณี ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่กำกับ ดูแลด้านความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกทางน้ำ ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้ประกอบการเรือ และท่าเรือ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก การปฐมพยาบาล การดูแลความปลอดภัย และการปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเป็นพื้นที่จัดงานพิธีที่สำคัญให้เกิดความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ
นายกริชเพชรกล่าวว่า ในวันนี้ (16 ต.ค.) ตน พร้อมด้วยนายโอฬาร เต็งรัง หัวหน้ากลุ่มตรวจการเดินเรือ ได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงเรือตรวจการณ์กรมเจ้าท่า ตรวจความพร้อมด้านการจราจรทางน้ำ ตลอดจนภูมิทัศน์ต่างๆ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเส้นทางเสด็จฯ จากท่าวาสุกรีถึงท่าเรือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยเฉพาะท่าเรือ โป๊ะเทียบเรือ อู่เรือ ตลอดจนร้านอาหารต่างๆ โดยได้สั่งการให้ปรับปรุงให้เกิดความสวยงาม เหมาะสม เช่น โป๊ะเทียบเรือ ต้องได้มาตรฐานกรมเจ้าท่า พร้อมมีอุปกรณ์ชูชีพประจำ ป้ายประชาสัมพันธ์ ธงแสดงประเภทเรือที่จอด ต้องปรับเปลี่ยนให้มีความสวยงาม หลักผูกเรือต้องมีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการท่าเรือ อู่เรือ ทำความสะอาด ทาสี ปรับภูมิทัศน์ให้มีความเรียบร้อย เกิดความสวยงาม
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำดำเนินการกักและกำจัดผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 จุดด้วยกัน ได้แก่ บริเวณวัดช้างน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี และบริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผักตบชวาไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ และไม่กระทบการดำเนินการพระราชพิธีฯ ซึ่งจะมีการซ้อมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 และวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค 27 ตุลาคม 2567 ขณะเดียวกัน กรมเจ้าท่าได้จัดเรือตรวจการณ์เจ้าท่า 39 ให้บริการประชาชนเส้นทางท่าเรือสาทร-ท่าเรือกรมเจ้าท่า-ท่าเรือราชวงศ์ ทุกๆ 1 ชั่วโมง
พร้อมประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารรับ-ส่งประชาชนฟรี จำนวน 2 เส้นทาง (เดินรถเป็นวงกลม) ได้แก่ 1. เส้นทางท่าเรือพายัพ-ท่าเรือราชินี ตั้งแต่เวลา 12.00-18.00 น. และ 2. เส้นทางท่าเรือราชินี-ท่าเรือราชวงศ์ ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ทางคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (คตร.) ได้ประกาศยกเลิกการซ้อมขบวนเรือฯ และหากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลทางน้ำ หรือพบเห็นความไม่ปลอดภัยทางน้ำ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมเจ้าท่า หมายเลข 1199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง