- • เป้าหมาย: ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้า
- • งบประมาณ: คาดใช้เงิน 2 แสนล้านบาท
- • แหล่งเงินทุน:
- • ระดมทุนจากเอกชน
- • เก็บค่าธรรมเนียมรถติด บนถนนที่มีแนวรถไฟฟ้า (คาดรายได้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท)
- • แผนงาน:
- • นำเสนอครม. เพื่อต่ออายุมาตรการ 20 บาท รถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง เป็นปีที่ 2
"สุริยะ" ลุยถก "คลัง" เดินหน้าศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า คาดใช้เงิน 2 แสนล้าน เล็งระดมทุนร่วมกับจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ถนนที่มีแนวรถไฟฟ้า 50 บาท/คัน คาดรายได้ 1.2 หมื่นล้าน/ปี เตรียมชง ครม.ต่อมาตรการ 20 บาท “สีแดง-สีม่วง” ปีที่ 2
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังเตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาเพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งการซื้อคืนนี้เพื่อทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง และเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่ายด้วย
เบื้องต้นกองทุนฯ จะกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งเงินของกองทุนฯ ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล เป็นต้น อีกส่วนจะเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) ซึ่งกระทรวงการคลังจะไปศึกษารูปแบบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจากการศึกษาเบื้องต้นมีถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะดำเนินการจะต้องมีเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นทางเลือกในการเดินทาง เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษ
สำหรับการคาดการณ์แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้นนั้น มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บในระยะ 5 ปีแรก ในอัตรา 40-50 บาท และในช่วง 5 ปีถัดไปจะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น ซึ่งคาดว่า จะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนดได้วันละประมาณ 700,000 คัน หากเก็บ 50 บาทต่อคันจะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาสนับสนุนกองทุนฯ ซื้อคืนสัมปทาน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนั้นจะช่วยให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหามลภาวะ และฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย อย่างไรก็ตาม เตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งพิจารณางบประมาณที่จะซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในกลางปี 2568
“ปัจจุบันการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีประกาศที่สามารถจัดเก็บได้แต่ กทม.ไม่ได้มีการเรียกเก็บแต่อย่างใด ดังนั้นกรณีที่กระทรวงการคลังจะจัดเก็บก็ต้องมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมซึ่งจะมีการหารือกับกฤษฎีกาด้วย”
นายสุริยะกล่าวว่า เมื่อกระทรวงการคลังดำเนินการจัดตั้งกองทุนได้ การซื้อคืนจะมีการเจรจากับเอกชนแต่ละราย เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งสัญญาสัมปทาน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส จะสิ้นสุดในปี 2572 นั้น ตรงนี้ก็ต้องมาดูว่าเหลือสัญญาอีกกี่ปี แต่ละปีเอกชนมีกำไรเท่าไร แล้วก็เจรจากัน รวมไปถึงจะต้องมีการจ่ายค่าจ้างเดินรถให้เอกชนด้วย เพราะจะปรับรูปแบบจากสัมปทานเป็นการจ้างวิ่งแทน
@ชง ครม.ต่อมาตรการ 20 บาท 'สีแดง-สีม่วง' ปีที่2
นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุมาตรการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะครบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งได้รับผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และ ยืนยันว่านโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่ประกาศไว้แน่นอน
พร้อมกันนี้ จะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมช่วงเดือนธันวาคม 2567 โดยเมื่อ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ มีผลบังคับใช้แล้วจะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมเพื่อจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนนโยบายฯ ได้แก่ ส่วนแบ่งรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณ เพื่อดำเนินการในช่วงที่กระทรวงการคลัง ยังจัดตั้งกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้าไม่ทัน