- • บีโอไอ ผลักดันอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)
- • มีเงินลงทุนไหลเข้าไทยมาก ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน
- • รวม 90 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท
- • ไทยมีศักยภาพจะเป็นผู้นำในอาเซียน
- • บริษัท "เวล เทค อิเล็กทรอนิกส์" เป็นผู้ผลิต PCB รายสำคัญ
บีโอไอผลักดันอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) หลังคลื่นลงทุนลูกใหญ่ไหลเข้าไทยตั้งแต่ต้นปี 2566 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน รวมกว่า 90 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท ดันไทยผู้นำอาเซียน โดยมี “เวล เทค อิเล็กทรอนิกส์” ผู้ผลิต PCB รายใหญ่จากจีน ประเดิมเปิดสายการผลิตเป็นรายแรก หลังใช้เวลาก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ไม่ถึง 1 ปี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังจากการเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ จำกัด ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ตามที่ได้มีคลื่นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้เข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ หนึ่งในบริษัทรายใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Welgao Electronics ผู้ผลิต PCB ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีน เป็นรายแรกที่เริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากได้ก่อสร้างโรงงานที่มีพื้นที่กว่า 64,000 ตารางเมตร รวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรในเวลาไม่ถึง 1 ปี
โรงงานของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ มีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 2,500 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ High-Density Interconnect (HDI) ชนิดหลายชั้น (Multilayer PCB) ซึ่งในเฟสแรกสามารถสร้างวงจรซ้อนกันได้สูงสุดถึง 30 ชั้น และบริษัทกำลังเตรียมแผนขยายโรงงานในเฟส 2 ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเฟสแรกหลายเท่า และจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต PCB ไปถึงระดับ 50 ชั้น โดย Multilayer PCB จะใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น Data Server และ Power Supply ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV), Data Center และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยบริษัทจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 ให้กับลูกค้าในกลุ่ม EV และอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกร้อยละ 60 ไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศกว่าร้อยละ 50
สาเหตุสำคัญที่กลุ่มเวล เทค ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อเป็นฐานผลิตสำคัญแห่งแรกนอกประเทศจีน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยโรงงานผลิต PCB แห่งนี้จะเป็น Smart Factory ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยที่สุด ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI และระบบอัจฉริยะในการผลิตทุกขั้นตอน
รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ AGV ในการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยในเฟสแรกกว่า 500 คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและช่างเทคนิค ขณะที่มีผู้บริหารชาวจีนไม่เกิน 10 คนเท่านั้น นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะใช้นักวิจัยไทยกว่า 40 คน มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีใน 5 สาขา ได้แก่ การพัฒนาวัสดุขั้นสูง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการผลิต การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาซอฟต์แวร์และ AI อีกทั้งจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย 4 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน PCB ด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา (ปี 2566-กันยายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม เช่น Mektec, KCE และการลงทุนใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลก โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวันที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Apex Circuit, Unitech เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน จะแล้วเสร็จพร้อมทยอยเปิดสายการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป