- 1. •*คณะกรรมการพิจารณาแนวทางใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพประชุมครั้งแรก
- 2. •*ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ
- 3. •*มุ่งเน้นการเยียวยาชุมชน
- 4. •*เตรียมจ้างที่ปรึกษา คาดสรุปแผนใน 1 ปี
- 5. •*ยืนยันการพัฒนาท่าเรือคลองเตยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์
คณะ กก.พิจารณาแนวทางใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพ 2.3 พันไร่ถกนัดแรก ตั้งอนุฯ 4 ชุดขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ลงลึกเยียวยาชุมชน เตรียมจ้างที่ปรึกษาคาดสรุปใน 1 ปี ด้าน "จุลพันธ์" ย้ำพัฒนาท่าเรือคลองเตยไม่เกี่ยวข้องกับ "เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์"
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ว่า วันนี้คณะกรรมการฯ ประชุมนัดแรก หลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง และได้สั่งการให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เพื่อใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 2,353.2 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ประชุมได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการ และภารกิจต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด โดยจะมีการนำแผนพัฒนาเดิมที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาไว้ มาทบทวนอีกครั้งด้วย
สำหรับข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดย่านคลองเตย จำนวน 26 ชุมชนนั้น มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1. ขอแบ่งปันที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย 20% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 500 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่สำหรับชุมชนประมาณ 270 ไร่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษารายละเอียดให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นก่อน ขณะที่แผนเดิมที่ กทท.ศึกษาจะจัดทำที่อยู่อาศัยเป็นตึกสูงนั้นจะนำมาดูร่วมกับรูปแบบของการเคหะแห่งชาติ 2. ขอให้กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยมีสัดส่วนจากชุมชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้ได้ดำเนินการแล้ว และสัดส่วนในการจัดตั้งคณะทำงานนั้นมีความเหมาะสม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในส่วนของแผนที่จะพัฒนาท่าเรือกรุงเทพนั้นจะออกมาในรูปแบบของ Smart Port (ท่าเรืออัจฉริยะ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือทางบก (Dry Port), โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา-อาจณรงค์ (S1), โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ, โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพ และศูนย์การเชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อเป็น Smart Community เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกการพัฒนานั้นยังคงต้องศึกษารายละเอียดอย่างชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการในแผน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุป และมีความชัดเจนในอีกประมาณ 1 ปีนับจากนี้
ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้ กทท.จัดตั้งงบประมาณเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการพิจารณารายละเอียด พร้อมทั้งทบทวนแนวทางและแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) รวมถึงแนวทางการรื้อย้ายและเยียวยาให้กับชุมชนคลองเตยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ให้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพอย่างยั่งยืน และให้ทำความเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบและการประชาสัมพันธ์
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการพิจารณาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เป็น "เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากยังคงต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะหนึ่ง หรือประมาณ 1-2 ปี จนกว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายไม่ย้ายท่าเรือออกจากพื้นที่ แต่จะมีการปรับลดขนาดหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อน ซึ่งมี 2 ประเด็น คือ 1. ท่าเรือกรุงเทพนั้นมีการจำกัดปริมาณตู้สินค้าอยู่ที่ 1.5 ล้านทีอียูต่อปี แต่มีปริมาณสินค้าจริงประมาณ 1.27 ล้านทีอียู ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง มีขีดรองรับที่ 11 ล้านทีอียู มีปริมาณจริงประมาณ 9 ล้านทีอียู ยังสามารถรองรับตู้สินค้าได้อีก กรณีที่จำเป็นต้องโอนถ่ายสินค้าระหว่างกัน และ 2. ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการให้บริการท่าเรือ แบบแนวดิ่ง ที่จะใช้พื้นที่น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นรองรับปริมาณสินค้าได้มากขึ้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการมอบหมายให้ศึกษา
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 คณะ เพื่อให้การดำเนินการได้มาตรฐานในทุกด้าน ประกอบไปด้วย ตัวแทนกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ในชุมชน ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยมีนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ 2. คณะอนุกรรมการพิจารณาพัฒนาศักยภาพพื้นที่บริเวณชุมชนคลองเตย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน โดยมีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ
3. คณะอนุกรรมการจัดระเบียบด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) อย่างยั่งยืน โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานอนุกรรมการ และ 4. คณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในท่าเรือกรุงเทพและการประชาสัมพันธ์ โดยมีนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะนั้นจะไปศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อมาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์ และจะนำข้อสรุปต่างๆ มาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป