xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้า "เหลือง-ชมพู" ออกแบบใหม่ "ล้อ-รางจ่ายไฟ" จ่อเปลี่ยนยกชุดเพิ่มระบบล็อกกันหลุดซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ปรับปรุงระบบล้อและรางจ่ายไฟฟ้า: จะเปลี่ยนยกชุด
  • • ดีไซน์ใหม่เพิ่มระบบล็อค 2 ชั้น: เตือนก่อนล้อหลุดจากราง
  • • ทดสอบขบวนจริง: เริ่มทยอยเปลี่ยนต้นปี 2568
  • • ปรับปรุงรางจ่ายไฟ: ช่วงต่อสั้นลง ลดผลกระทบ


รถไฟฟ้า "เหลือง-ชมพู" ออกแบบใหม่ “ล้อประคองและรางจ่ายไฟฟ้า” เตรียมเปลี่ยนยกชุด อัสตรอม ดีไซน์เพิ่มระบบล็อก 2 ชั้นเตือนก่อนหลุด เตรียมทดสอบขบวนจริงเริ่มทยอยเปลี่ยนต้นปี 68 ส่วนรางจ่ายไฟปรับตัดระยะให้สั้นป้องกันหากถูกเกี่ยวหลุดจะไม่กระทบทางยาวเกินไป 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในฐานะกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด และเหตุรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วง บริษัทได้มีการหารือร่วมกับ บริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว และได้มีการออกแบบล้อประคองและรางจ่ายไฟฟ้าใหม่ พร้อมเตรียมแผนทดสอบและทยอยปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสาร 

ในส่วนของล้อประคองนั้น  บริษัท อัลสตอม ผู้ผลิต ได้มีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยมีการออกแบบชุดล้อใหม่ให้มีตัวล็อกเพิ่มขึ้นอีกชั้น และผ่านการทดสอบที่โรงงานผลิตแล้ว ขณะนี้ได้นำล้อประคองชุดใหม่เข้ามาเพื่อดำเนินการทดสอบกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 1 ขบวน และสีชมพู 1 ขบวนก่อน เพื่อการเก็บข้อมูลไประยะหนึ่ง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หากผลออกมาเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยครบถ้วนแล้วจะเริ่มทยอยเปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่นี้ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป โดยจะเปลี่ยนรถไฟฟ้าสายสีชมพู จำนวน 42 ขบวน และสายสีเหลืองจำนวน 30 ขบวน ครบหมดภายในปี 2568 

“รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูจะเป็นโครงการแรกที่ใช้ล้อแบบใหม่ของอัลสตอมที่มีระบบล็อก 2 ชั้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวอยู่ในระยะความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่จะเข้ามาดำเนินการและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และเนื่องจากระบบโมโนเรลยังถือเป็นของใหม่ของไทย บริษัทจึงได้จ้างอัลสตอมให้เป็นผู้ซ่อมบำรุงต่อไป ซึ่งจะดูแลเรื่องการสต๊อกอะไหล่ด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว

ขณะที่ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงใช้ล้อประคองแบบเดิม แต่ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนชุดล้อประคองที่ผลิตในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมดแล้วซึ่งหลังเปลี่ยนการใช้งานก็มีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว โดยมีการเพิ่มความถี่ในการตรวจเช็ก ตรวจสอบอุปกรณ์ ตามที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เข้ามากำกับดูแล ซึ่งยังไม่พบปัญหาใดๆ 

@ออกแบบรางจ่ายไฟฟ้าใหม่ เตรียมเปลี่ยนด้วย 

ส่วนรางจ่ายไฟฟ้านั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนใหม่เช่นกัน ซึ่งทางอัลสตรอมได้มีการออกแบบใหม่แล้ว จากเดิมที่เป็นรางจ่ายไฟฟ้าความยาวต่อเนื่อง 5-6 กม. จะปรับให้สั้นลง ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์และประเมินผลข้อดี ข้อเสีย รวมถึงค่าใช้จ่าย

กรณีรางจ่ายไฟฟ้า การออกแบบเดิมจะให้รางจ่ายไฟฟ้ามีความยาวมากที่สุดโดยเฉพาะทางตรงเพื่อลดรอยต่อเชื่อมน้อย แต่เมื่อมีปัญหาเกิดการเกี่ยวรั้งรางจะหลุดออกมาตลอดแนวหลาย กม.ทำให้มีผลกระทบต่อการเดินรถ ส่วนการปรับระยะรางให้สั้นลงอาจทำให้มีรอยต่อเชื่อมเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการดูแลซ่อมบำรุงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ทางอัลสตอมอยู่ระหว่างประเมินและวิเคราะห์ ทางเราอยากเปลี่ยนใหม่แต่ทางผู้ผลิตต้องสรุปข้อดี ข้อเสีย และค่าใช้จ่ายอีกครั้ง 


@ผู้โดยสาร "ชมพู" เฉลี่ยกว่า 7 หมื่นคน/วัน คาดเปิดต่อเข้าเมืองทองฯ อัปอีกหลายหมื่นคน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 7 หมื่นคน/วัน แนวโน้มถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีช่วงกลางปี 2568 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นคน และหากมีกิจกรรมงานในเมืองทองธานีจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ผู้โดยสารเฉลี่ย 4-5 หมื่นคน/วัน แนวโน้มการเติบโตไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผู้โดยสารสายสีเหลืองและสีชมพูยังถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ที่ประเมินไว้กว่า 1 แสนคน/วัน และต่ำกว่าผลการศึกษาที่ รฟม.คาดไว้กว่า 2 แสนคน/วัน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงานที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด รวมถึงปัญหารถติดที่ลดลง เช่น ถนนลาดพร้าว มีสะพานข้ามแยกเป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น