- • กรมทางหลวงชนบท ครบรอบ 22 ปี เดินหน้าสร้างถนนและสะพาน พัฒนาโครงข่ายคมนาคม
- • น้ำท่วมถนน 187 สายทาง ใน 37 จังหวัด
- • กรมทางหลวงชนบท เร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด
- • คาดการณ์ค่าซ่อมแซมกว่า 800 ล้านบาท
กรมทางหลวงชนบท ครบ 22 ปี เดินหน้าสานต่อภารกิจสร้างถนนและสะพาน พัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ เผยน้ำท่วมถนน187 สายทางในพื้นที่ 37 จังหวัด เร่งสำรวจค่าเสียหายหลังน้ำลด ประเมินค่าซ่อม กว่า 800 ล้านบาท
วันที่ 9 ต.ค.2567 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงชนบท (ทช.) ครบรอบ 22 ปี ว่า ที่ผ่านมา ทช.ที่ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการเดินทางของประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว แบ่งเบาการจราจรบนถนนสายหลัก ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต รวมทั้งได้มอบแนวทางการดำเนินงานในการเดินหน้าสานต่อภารกิจก่อสร้างถนนและสะพาน เชื่อมระหว่างถนนสายหลักกับถนนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเดินทางจากต้นทางไปสู่ปลายทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมเน้นย้ำให้เตรียมความพร้อมในการรับมือ ตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ และวางแผนป้องกันสถานการณ์อุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ตลอดปี 2567 ทช. ได้ดำเนินโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทางด้านการคมนาคมของประชาชนในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาการคมนาคมระบบโลจิสติกส์ การส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก และการสนับสนุนเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว อาทิ โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.1020 - บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง, จุน จ.เชียงราย, พะเยา งบประมาณ 1,199 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างขยายถนนชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี งบประมาณ 902 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ตอนที่ 1 งบประมาณ 899.999 ล้านบาท และตอนที่ 2 งบประมาณ 900 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างถนนสาย มห.3019 แยก ทล.212 – บ้านบางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร งบประมาณ 804.159 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย นย.3007 แยก ทล.305 – บ้านคลอง 33 อ.องครักษ์ จ.นครนายก งบประมาณ 716.350 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล งบประมาณ 433.190 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย พร.4001 แยก ทล.1022 – บ้านกลาง อ.เมือง จ.แพร่ งบประมาณ 126.100 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 1) อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย งบประมาณ 84.090 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทช. พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมนาคมในการส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งดำเนินโครงการก่อสร้างสายทางเพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อาทิ โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย - ลาว (แห่งที่ 2) - พระธาตุพนม อ.เมือง, ธาตุพนม จ.มุกดาหาร, นครพนม งบประมาณ 615 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนท่องเที่ยวตะนาวศรีคีรีพัฒน์ ช่วงสามแยกถนนชัยพัฒนาตัดกับ ทล.3218 - ทล.4 อ.หัวหิน, ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ งบประมาณ 700 ล้านบาท และช่วงบ้านเขาบันได - บ้านพุน้ำร้อน อ.หนองหญ้าปล้อง, เขาย้อย จ.เพชรบุรี งบประมาณ 720 ล้านบาท
@ น้ำท่วมถนน187 สายทางในพื้นที่ 37 จังหวัด เร่งสำรวจค่าเสียหายหลังน้ำลด
นายมนตรีกล่าวว่า ในช่วงฤดฝนทช. เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในทุกมิติ ทั้ง ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ และมิติกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งฟื้นฟูสายทางที่ประสบเหตุอุทกภัยอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้สัญจรได้อย่างปลอดภัย
โดยที่ผ่านมา ถนนของกรมทางหลวงชนบทได้รับผลกระทบจำนวน 187 สายทางในพื้นที่ 37 จังหวัด ซึ่งมีความเสียหาย เช่น สะพานขาด คอสะพานทรุด น้ำท่วมเส้นทาง ดินสไลด์ ถนนถูกกัดเซาะ โดยทช.ได้จัดเจ้าหน้าที่และเครื่องมือ เตรียมพร้อมในการเข้าพื้นที่เพื่อฟื้นฟูทันที หลังน้ำลด เช่น ทำความสะอาดผิวจราจร หรือซ่อมแซมเบื้องต้น รวมถึงเร่งติดตั้งสะพานแบลีย์ โดยใช้งบประมาณด้านซ่อมบำรุงดำเนินการ เพื่อให้สามารถเปิดการสัญจรได้เร็วที่สุด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
พร้อมกันนี้ จะเร่งสำรวจความเสียหายถนนที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจสอบ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประเมินค่าเสียหายเบื้องต้น ประมาณ 800 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบาย ในการฟื้นฟูซ่อมแซมสายทางที่เสียหายจากน้ำท่วมว่า ต้องทำให้ยั่งยืน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านงบประมาณ และเพื่อไม่ให้เกิดการชำรุดซ้ำอีก ดังนั้นหลังน้ำลด จะมีการสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
“กรณีที่มีการบอกว่า ถนนขวางทางน้ำ หรือ จุดนี้น้ำไม่เคยท่วม ซึ่งข้อเท็จจริงในการออกแบบถนนจะออกแบบระบบระบายน้ำไว้อยู่แล้ว อาจจะเป็นท่อลอด หรือสะพาน ให้น้ำผ่านสะดวก แต่เนื่องจากสภพาภูมิประเทศมีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาพื้นที่สองข้างทาง ทำให้ทิศทางไหลของน้ำเปลี่ยน ภาวะโลกร้อน ฝนตกซ้ำซาก ทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติเกิดปริมาณน้ำเพิ่มและมีโคลน ท่อนซุง ด้วยในบางพื้นที่ ดังนั้นในการแก้ปัญหา จะต้องคำนึงถึงการเพิ่มระบบระบายน้ำ ช่องลอด และสะพาน โดยจะหารือกับจังหวัดร่วมด้วย ส่วนสะพานบางจุดที่ถูกน้ำป่าพัดจนสะพานขาดก็อาจจะออกแบบใหม่ เพื่อยกสะพานให้สูงขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวในอนาคต”
ทช. ได้เตรียมแผนเผชิญเหตุในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยสั่งการไปยังสำนักงานทางหลวงชนบท และแขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ดำเนินการจัดเตรียมถุงทรายสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบสายทางที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อแก้ไขปรับปรุง และหาแนวทางป้องกันในปีต่อไป รวมทั้งเตรียมการสำรวจสะพานในพื้นที่เสี่ยงกับการเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวในอนาคต