xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนน้ำท่วมภาคเหนือ มีหลายปัจจัยที่ต้องจัดการ ถึงเวลาของเทคโนโลยีมาช่วยป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี
  • • ส่งผลกระทบหนักต่อประชาชนและธุรกิจในพื้นที่
  • • สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว
  • • ยังต้องใช้เวลาฟื้นฟูเมือง


น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่นับเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีที่สร้างผลกระทบอย่างมากให้แก่ประชาชนและธุรกิจในพื้นที่ แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการฟื้นฟูเมืองให้กลับมาเหมือนเดิม ไม่เพียงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคเหนือแต่ยังเป็นบทเรียนที่ต้องเร่งศึกษาเพื่อบริหารจัดการไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีกในอนาคต

จากความคิดเห็นและแนวคิดที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าข้าวโพดบนดอยถูกยกขึ้นมาเป็นจำเลยสำคัญของสถานการณ์นี้ เมื่อปริมาณฝนจำนวนมากตกลงบนดอยที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่จึงขาดตัวช่วยชะลอความเร็วของน้ำ แถมยังพัดพาเอาโคลนลงมาด้วยอย่างที่เห็น อย่างไรก็ตาม การใช้ตัวเลขพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในเชียงใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 285,000 ไร่ และกว่า 303,000 ไร่ในเชียงรายว่าเป็นต้นเหตุของน้ำท่วมใหญ่ดูเป็นการเหมารวมที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะพื้นที่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นข้าวโพดบนพื้นที่ป่าทั้งหมด และไม่สามารถแยกออกได้ว่าปลูกบนพื้นที่ราบเท่าไร

การโยนบาปให้ข้าวโพดบนดอยเพียงเรื่องเดียวดูจะไม่เป็นธรรมนัก ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่ถูกนำขึ้นมาพูดบนโต๊ะอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะทุกวันนี้ยังมีการลักลอบใช้ประโยชน์จากป่าและบุกรุกพื้นที่ป่าโดยขาดการตรวจสอบและควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อสร้างที่พักอาศัย จับจองพื้นที่ทำมาหากิน รวมถึงสร้างโรงแรม รีสอร์ต เพราะเชียงใหม่และเชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีธรรมชาติสวยงาม อีกทั้งปัญหาไฟป่าที่ควบคุมยากก็เป็นเหตุทำให้เกิดเขาหัวโล้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ปัญหาโลกร้อนเป็นอีกปัจจัยทำให้สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนมากขึ้น และภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้งเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิมและรุนแรงมากขึ้นทุกปี


ในส่วนของการจัดการปัญหาข้าวโพดปลูกดอยมีหลายองค์กรได้เข้าช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก หรือเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่กระทบต่อระบบนิเวศ หยุดการขยายพื้นที่เขาหัวโล้น เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งของไทยที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหารุกพื้นที่ป่า ด้วยการจัดซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับจนถึงแหล่งปลูกมาตั้งแต่ ปี 2559 โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GPS และเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมช่วยระบุพิกัดแปลงปลูกข้าวโพดได้อย่างแม่นยำ รวมถึงนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้บันทึกข้อมูลในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งแต่รายชื่อเกษตรกร พิกัดแปลงปลูก จนถึงผู้รวบรวมหรือลานรับซื้อ ติดตามผลผลิตตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งเทคโนโลยีดาวเทียมและระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง องค์กรชั้นนำระดับโลกที่จัดหาถั่วเหลือง หรือข้าวโพดก็ใช้ระบบนี้เพื่อยืนยันว่าสินค้ามาจากการจัดการที่ถูกต้อง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ภาคเอกชนที่รับซื้อข้าวโพดยังนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมีส่วนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นเทคโนโลยีที่จัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยสูงและยากต่อการปลอมแปลง มีส่วนช่วยซีพีสามารถจัดหาข้าวโพดในประเทศไทยทั้งหมดมาจากพื้นที่ไม่รุกป่า นอกจากนี้ ซีพียังขยายผลนำระบบตรวจสอบย้อนกลับไปใช้ในการจัดหาข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา สปป.ลาว หรือกัมพูชา เพื่อช่วยหยุดยั้งการรุกป่าได้ และช่วยติดตามกำกับไม่ให้เกษตรกรเผาเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยวนำไปสู่การช่วยป้องกันฝุ่นข้ามแดน และฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย

อีกทั้ง มาตรการทางการค้าของประเทศนำเข้าสินค้ายังออกกฎหมายกีดกันสินค้าที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า เช่น สหภาพยุโรป ตลาดนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ที่สำคัญของไทย ในอนาคตอันใกล้ กำลังเตรียมบังคับใช้มาตรการ EU Deforestation Regulation: EUDR เพื่อป้องกันสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลอดห่วงโซ่การผลิตเนื้อไก่ของไทยปรับตัว กลไกนี้จึงเป็นอีกแรงหนุนให้ข้าวโพดที่บุกรุกป่าลดลง เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นต้นทางของภาคปศุสัตว์ไทย

ขณะนี้รัฐบาลไทยส่งเสริมให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายอื่นๆ ของไทยนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย เป็นการหยุดยั้งดอยหัวโล้นที่มาจากการปลูกข้าวโพดได้อย่างเป็นระบบ ดังนั้น การฟันธงแค่ข้าวโพดบนดอยเพียงอย่างเดียว ไม่ช่วยให้เราสามารถจัดการต้นเหตุที่แท้จริงของวิกฤติครั้งนี้ได้ การสรุปสาเหตุของวิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือครั้งนี้ควรต้องทำอย่างรอบด้าน นำไปสู่การพัฒนาแผนรับมือหรือหยุดยั้งการเกิดน้ำท่วมในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาดอยหัวโล้นต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและชุมชน ซึ่งมีผลต่อการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาป้องกันการบุกรุกป่า การหยุดลักลอบเผาเพื่อหาของป่า การรุกล้ำแหล่งน้ำและพื้นที่ป่า เป็นต้น ที่สำคัญถึงเวลาแล้วที่เราคิดวางแผนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยติดตามและเตือนภัยธรรมชาติเพื่อช่วยลดหรือหยุดยั้งไม่ให้เกิดภัยธรรมชาติแบบนี้ในอนาคต เช่นเดียวกับเทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดที่ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาข้าวโพดรุกป่าได้เป็นผลสำเร็จ

บทความโดย พิมพ์พร สงวนธรรม นักวิชาการอิสระด้านระบบตรวจสอบย้อนกลับ
กำลังโหลดความคิดเห็น