- - ไทยเบฟ เปิดแผน "Passion 2030"
- - มุ่งเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ
- - ย้ำความเป็นผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร
- - ตั้งเป้าหมายการเติบโตใน 5 ปี
- - เน้น "สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน"
- - ลงทุน 18,000 ล้านบาทในปี 2568
- - เน้นหนักในตลาดมาเลเซีย
การตลาด - ไทยเบฟ เปิดแผน Passion 2030 ต่อยอดธุรกิจเสริมความแข็งแกร่ง ตอกย้ำผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร ปักหมุดหมายการเติบโตใน 5 ปีนี้ เพื่อ ”สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน“ หว่านเงินอีก 18,000 ล้านสำหรับปี 68 เน้นหนักในมาเลเซียและกัมพูชา บูมเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์เต็มกำลัง เผยเผยรายได้ 9 เดือนแรกปีนี้โต 0.5% แตะ 217,055 ล้านบาท กำไรโตอีก 2.2% หรือกว่า 38,595 ล้านบาท
ทุกก้าวของไทยเบฟหลังจากนี้ พร้อมปักธงหมุดหมายสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน หลังรั้งบัลลังภ์เป็นผู้นำในกลุ่มบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาแล้ว
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันนี้เรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ตามแผนงาน PASSION 2030 มุ่งต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มในการเสริมความแข็งแกร่งสถานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร พร้อมทั้งวางเป้าหมายและแผนการเติบโตในช่วงห้าปีข้างหน้าเพื่อ ‘สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน’ (Enabling Sustainable Growth)
“เรามีความคืบหน้าที่ดีในการสรรสร้างความสามารถ เสริมแกร่งตำแหน่งในตลาดและตราสินค้าของเรา รวมทั้งนำศักยภาพของไทยเบฟที่มีอยู่มาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดในทุกธุรกิจของเรา แม้ที่ผ่านมาจะมีความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน อันเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และในวันนี้เรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า” นายฐาปน กล่าว
นายฐาปน กล่าวต่อว่า การดำเนินงาน 5 ปีนับจากนี้ จะให้ความสำคัญกับดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต โดยนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต
รวมถึงให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้าด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่ง (Reach Competitively) ที่จะต้องพัฒนาการส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งเจาะตลาดได้อย่างครบวงจรไร้รอยต่อ ด้วยศักยภาพอันแข็งแกร่งที่พร้อมแข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและการให้บริการที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้จะเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ซึ่งจะเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น
โดยในปี 2568 นี้ ไทยเบฟพร้อมใช้งบลงทุนกว่า 18,000 ล้านบาท เน้นหนักไปในส่วนของธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม เช่น 1.มาเลเซีย 9,500 ล้านบาท เน้นในส่วนของ F&N หรือ กลุ่มเดลี่ฟาร์ม/นม และชาเขียว 2.กัมพูชา 2,500 ล้านบาท เกี่ยวกับชาเขียว นม และเบียร์ และ3.ธุรกิจอาหาร 1,300 ล้านบาท เน้นขยายสาขาเพิ่ม โดยเฉพาะ KFC และรีโนเวท ในส่วนของ โออิชิ เป็นต้น จากปัจจุบันไทยเบฟ แบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจสุรา 2.ธุรกิจเบียร์ 3.ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ4.ธุรกิจอาหาร
โดยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวมที่ 217,055 ล้านบาท โต 0.5% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 38,595 ล้านบาท โต 2.2% โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
**เจาะลึก 4 ธุรกิจ 5 ปีนับจากนี้
1.ธุรกิจสุรา
นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้มุ่งสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งในฐานะผู้นำให้มีความมั่นคงมากขึ้นทั้งในตลาดสุราขาวและสุราสี ล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้รุกตลาดพรีเมี่ยม ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ PRAKAN (ปราการ) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียมแบรนด์แรกของประเทศไทย เข้ามาเสริมทัพในการขับเคลื่อนสุราพรีเมี่ยมองไทยสู่เวทีระดับโลก
“เราเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักของเราในไทยอย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการดำเนินกิจกรรมของตราสินค้าต่างๆ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อเสริมสถานะความเป็นผู้นำของไทยเบฟให้มั่นคงยิ่งขึ้นทั้งในตลาดสุราขาวและสุราสี”
สำหรับตลาดต่างประเทศ มุ่งเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่หลากหลาย ทั้งวิสกี้จากสกอตแลนด์ คอนญักจากฝรั่งเศส วิสกี้จากนิวซีแลนด์ ซิงเกิล มอลต์ วิสกี้และรัมระดับพรีเมียมจากไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตในนิวซีแลนด์ ส่วนในเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งและยังครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในประเทศไว้ได้แม้จะมีความท้าทายในตลาดอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่รายได้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ทำได้ 92,788 ล้านบาท ลดลง 0.9% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 1.3% สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมที่ลดลง 2.7% เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
2.ธุรกิจเบียร์
นายไมเคิล ไชน์ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นอันดับหนึ่งของตลาด ภายใต้ 6 กลยุทธ์สำคัญ คือ 1.เสริมแกร่งความเป็นผู้นำ 2.ยกระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ 3.พัฒนาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน 4.ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง 5.การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล และ6.ส่งเสริมความยั่งยืน
ส่วนธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม มุ่งสร้างความแข็งแกร่งของตำแหน่งผู้นำผ่านการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะพื้นที่นอกเมือง โดยเน้นสร้างความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน คือ ความเป็นเลิศด้านการค้า, ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล
ขณะที่กัมพูชาเป็นตลาดเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร ดังนั้นเราจึงเล็งเห็นโอกาสและได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 และมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ
“ไทยเบฟมียอดขายเบียร์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ในส่วนของธุรกิจในเวียดนามยังคงเผชิญความท้าทายจากการบริโภคที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการบังคับใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 100 อย่างเข้มงวด ซึ่งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ อย่างไรก็ดี การเสริมแกร่งของธุรกิจในเมียนมาจากการรวมธุรกิจ F&N เข้ามาเป็นบริษัทย่อย รวมถึงการขยายสู่ตลาดกัมพูชา นับเป็นโอกาสดีที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจเบียร์ของเรา”
ทั้งนี้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจเบียร์มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ของธุรกิจเบียร์เติบโต 10.2% ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น 0.6% เป็น 93,793 ล้านบาท อันเป็นผลจากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และการผลิตมีที่ประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9% ก็ตาม
3. ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
นายโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรามีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ด้วยการนำเสนอสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
“เราได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อรวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำหุ้นของเสริมสุขออกจากตลาด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCCAL เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น มั่นใจว่าไทยเบฟจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงดำเนินการภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่อนาคตยุคดิจิทัล” โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่
3.1 ตราสินค้าและการเข้าถึง มุ่งเสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้าเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยนำเสนอตราสินค้าเครื่องดื่มที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการและความชื่นชอบของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนไป เสริมแกร่งตราสินค้าชาเขียวโออิชิ ด้วยการนำเสนอความเป็นญี่ปุ่นของตราสินค้า และดำเนินกลยุทธ์เพื่อครองใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านแคมเปญร่วมกับโปเกม่อน เดินหน้าตอบโจทย์กระแสใส่ใจสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัวโออิชิ กรีนที ชาเขียวกลิ่นข้าวโพดฮอกไกโด สูตรไม่มีน้ำตาล ซึ่งผสานรสชาติชาเขียวที่สดชื่นเข้ากับกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวโพดญี่ปุ่น
ในส่วนของคริสตัลได้ตอกย้ำสถานะผู้นำอันดับหนึ่งของตลาดน้ำดื่มในประเทศไทย ด้วยการเดินหน้าสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยชูจุดยืนในฐานะน้ำดื่มคุณภาพสูง ที่นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจและอารมณ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ คริสตัลยังได้เข้าร่วมโครงการเพื่อสังคมในประเทศหลายโครงการ รวมถึงลงพื้นที่จัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการผลิตทั้ง 19 ขั้นตอนของคริสตัล ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นน้ำดื่มคุณภาพดีที่สุดสำหรับคนไทย
สำหรับเครื่องดื่มอัดลมเอส ได้ยกระดับตราสินค้าผ่านการพลิกโฉมครั้งใหญ่ภายใต้แคมเปญ “เอส เกิดมาซ่า... กล้าเป็นตัวเอง” เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ด้วยแนวคิดที่ว่าชาว Gen Z ทุกคนเกิดมาซ่าในแบบของตัวเองและเอสพร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ทำในสิ่งที่ชอบ โดยกลุ่มจะเร่งการเติบโตของเอสในตลาดผ่านการใช้แคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค
3.2 ความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืน ขับเคลื่อนความเป็นเลิศด้านในกระบวนการผลิตและผลักดันประสิทธิภาพของเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง โดยได้ติดตั้งเครื่องเป่าขวดขึ้นรูปเพื่อรองรับกระบวนการผลิตขวดภายในกลุ่ม ซึ่งช่วยให้กลุ่มสามารถลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน นำเทคโนโลยีการจัดการด้านดิจิทัลมาใช้ ส่งผลให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและกระจายสินค้า เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตและเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุมของไทยเบฟให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
3.3 ความยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อธุรกิจ ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการใช้พลังงานสะอาดซึ่งได้จากระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานแต่ละแห่ง อีกทั้งยังพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับชาเขียวโออิชิ ด้วยการสร้างสรรค์ฝาขวด PET แบบใหม่ที่ยึดติดกับปากขวด เพื่อให้สามารถเก็บทั้งขวดและฝาขวดไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเริ่มใช้ขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) 100% ในบางผลิตภัณฑ์ของตราสินค้าเอสโคล่าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับรายได้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 9 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 15,553 ล้านบาท โตขึ้น 4.9% ตามปริมาณขายที่โตขึ้น 5.3% มาจากกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จ และการขยายการกระจายสินค้าให้กว้างขวาง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 1,817 ล้านบาท โตขึ้น 2.5% จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้จะมีการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม
4.ธุรกิจอาหาร
นายโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนงานขับเคลื่อนธุรกิจอาหารให้เติบโตประกอบด้วย
4.1 การขยายสาขาใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแบรนด์ และพัฒนารูปแบบร้านใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับทำเลและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายการกระตุ้นยอดขายในสาขาเดิมผ่านการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของแบรนด์ต่าง ๆ โดยโออิชิได้ฉลองครบรอบการก่อตั้ง 25 ปีด้วย
4.2 การเปิดตัวแคมเปญร่วมกับ 10 เชฟชื่อดังของประเทศไทย เพื่อนำเสนอประสบการณ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นตลอดทั้งปี 2567
4.3 การเสริมแกร่งพื้นฐานธุรกิจด้วยการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะของพนักงาน การเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานด้วยการจัดสรรจำนวนพนักงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามระบบวิเคราะห์การจัดการแรงงาน (labor matrix system) การลงทุนในระบบดิจิทัลต่างๆ เช่น ตู้จำหน่ายอาหารดิจิทัล และเครื่องมือในการสร้างรายงานสรุปภาพรวมของการดำเนินงาน (operational dashboards) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานและประสบการณ์การสั่งอาหารของลูกค้า ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการผนึกกำลังภายในกลุ่มเพื่อควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ
4.4 การพัฒนาด้านความยั่งยืน เช่น ส่งเสริมไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้งผ่านโครงการต่างๆ สนับสนุนชุมชนโดยจัดหาพนักงานที่มีทักษะในท้องถิ่น สร้างอาชีพ และร่วมทำกิจกรรมการกุศล เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน
โดยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจอาหาร มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท โตขึ้น 5.1 % กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 0.6% หรือทำได้ 1,438 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น.