xs
xsm
sm
md
lg

กรมราง หารือ สภาผู้บริโภค เสนอเพิ่มฟีดเดอร์แนะปรับปรุงสถานีรถไฟให้ทุกกลุ่มใช้บริการสะดวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขร.หารือ สภาผู้บริโภค ร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางราง แนะเพิ่มฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับรถโดยสารสาธารณะ และประเมิน 64 สถานี ปรับปรุงเพิ่มคุณภาพให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้บริการรถไฟได้อย่างสะดวก

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือกับนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคและคณะผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ถึงข้อเสนอในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน ร่วม

นายพิเชฐ เปิดเผยว่า การหารือมุ่งเน้นประเด็นสำคัญในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง โดยทางคณะผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางในหลายประเด็น ประกอบด้วย

1. มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสภาฯ และ ขร. ให้ความสำคัญ เนื่องจากช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวได้นำมาใช้กับโครงการ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) โดย ปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ภายหลังเริ่มดำเนินมาตรการตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา

ซึ่งในภาพรวมพบว่า มีผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน รวม ร้อยละ 26.58 โดยจำนวนผู้โดยสารสายสีแดง เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 51.84 ในขณะที่ปริมาณผู้โดยสารสายสีม่วง เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17.54 อีกทั้งได้หารือในประเด็น พ.ร.บ. ตั๋วร่วมฯ พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฯ และแหล่งเงินทุนเพื่อที่จะนำมาสนับสนุนมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท

2. การเชื่อมต่อรถไฟกับรถโดยสารประจำทาง (feeder) โดยเร่งพัฒนาการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น(รถโดยสารประจำทาง)กับระบบราง เช่น การจัดให้มีรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ การจัดให้มีทางเดินเชื่อมระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน

3. การอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและการพัฒนามาตรฐานการบริการ ขร. มีการดำเนินโครงการประเมินคุณภาพสถานีขนส่งทาง โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพสถานีตามมาตรฐานสากลและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8 ด้าน พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสถานีขนส่งทางราง เพื่อคนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้บริการรถไฟได้อย่างสะดวก ปลอดภัย มีความเสมอภาค และเท่าเทียม โดยยึดหลักการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design) 


ทั้งนี้ มีการประเมินคุณภาพสถานีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2565 - 2567 จำนวน 64 สถานี แบ่งเป็น สถานีรถไฟ 28 สถานี และสถานีรถไฟฟ้า 36 สถานี เพื่อประเมินคุณภาพและความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสาร และจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและใช้บริการของคนทุกกลุ่ม

โดยการหารือกับสภาองค์กรผู้บริโภค ในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้การขนส่งด้วยระบบราง อีกทั้งเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนทุกคนได้ใช้บริการอย่างเท่าเทียม และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


กำลังโหลดความคิดเห็น