xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ตั้งคณะ กก.ตรวจสาเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ ขีดเส้นสรุปสาเหตุใน 15 วัน เล็งรื้อใหม่ทั้งระบบและเพิ่มมาตรการป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการรื้อระบบอนุญาตรถบัสใหม่
  • • ดึงวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสภาวิศวกรร่วม
  • • กำหนดเวลา 15 วัน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์รถบัสนักเรียนไฟไหม้
  • • ตรวจสอบระบบป้องกันความปลอดภัย ว่าเพียงพอหรือไม่
  • • นำข้อมูลที่ได้มาสร้างมาตรฐานใหม่ สำหรับรถบัส


“สุริยะ” ตั้งคณะ กก.รื้อระบบอนุญาตรถบัสใหม่ ดึง วสท.และสภาวิศวกรร่วม ขีดเส้น 15 วันสาเหตุที่แท้จริงรถบัสนักเรียนไฟไหม้ชัดเจน พร้อมตรวจระบบป้องกันเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำมาสร้างมาตรฐานใหม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 3 ต.ค. 2567 ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ โดยมีนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน และมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ฯลฯ เป็นกรรมการ

เพื่อให้ทราบสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ อันจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการเชิงป้องกันและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานและผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะดังกล่าวซ้ำอีกในอนาคต

โดยมีหน้าที่และอำนาจในการศึกษา ตรวจสอบ และวิเคราะห์ตามหลักวิศวกรรม เพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุและความสูญเสียดังกล่าว เสนอมาตรการเชิงป้องกันทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงาน และผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทขึ้นอีกในอนาคต เพื่อพิจารณาสั่งการ เสนอข้อเสนอแนะอื่นๆ เพื่อยกระดับความปลอดภัยสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท โดยให้รายงานผลการดำเนินงานให้ทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง


นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ จะดำเนินการระยะเร่งด่วนใน 15 วัน จะหาสาเหตุที่แท้จริงว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากอะไร ระบบป้องกันเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องสร้างระบบป้องกันและเรียกมาติดตั้งให้เรียบร้อยก่อนอนุญาตให้ใช้ ส่วนในระยะยาว รถโดยสารสาธารณะต้องให้ความสำคัญทั้งการตรวจป้องกัน และตัวรถจะต้องปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย

“รถที่จะใช้ในการโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะที่จะต้องใช้กับเด็กเล็ก มาตรฐานต้องสูงกว่าทั่วไป รายละเอียดทั้งหมดจะมีการลงรายละเอียดในการประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ได้ตั้งไว้ ตอนนี้ คำสั่งออกแล้วคงจะเชิญประชุมทันที กระทรวงให้ความสำคัญ และไม่ได้ทำแบบไฟไหม้ฟาง ในระยะยาวต่อไปต้องดำเนินการอย่างไร การบริหารรถต่างๆ จะบริหารจัดการอย่างไร และที่สำคัญจะต้องไม่เกิดเหตุแบบนี้อีก ขอให้เวลากระทรวงทำงานนิดหนึ่ง” ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว


@ยัน 15 วันได้มาตรการ

ด้านนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการ ขั้นแรกจะรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการในช่วง 15 วันแรก หลังจากนั้นจะดูว่าในระยะยาวรถโดยสารสาธารณะทั้งหมดจะต้องมีมาตรการอะไรบ้าง โดยเฉพาะในกรณีรถที่ใช้ก๊าซ และรถที่บรรทุกเด็ก อาจจะต้องดูเรื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ และอีกประเด็นคือ หากการใช้ก๊าซมีผลเสียกับการใช้รถโดยสารสาธารณะ อาจจะต้องมีมาตรการนำไปสู่การพิจารณาความเหมาะสมต่อไปในอนาคต

สำหรับคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธานกรรมการ นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธานฯ กรรมการ ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย รศ.อเนก ศิริพานิชกร ศ.ดร.มงคล มงคลวงศ์โรจน์ สภาวิศวกร นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผศ.ดร.ชูชัย สุจิวรกุล ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการและเลขานุการ และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายที่ 2 กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ


กำลังโหลดความคิดเห็น