xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวที TCAC 2024 ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เป้าหมาย: เร่งเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ
  • • การขับเคลื่อน: สานพลังภาคีทุกฝ่าย
  • • จุดประสงค์: กระตุ้นและผลักดันให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
  • • วัตถุประสงค์หลัก:
  • • เสริมสร้างความร่วมมือ
  • • แบ่งปันความรู้และประสบการณ์
  • • กระตุ้นการลงทุน
  • • เร่งการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • • ผู้เกี่ยวข้อง: ภาคเอกชน, หน่วยงานภาครัฐ, องค์กรพัฒนาเอกชน, นักวิชาการ, ประชาชน


การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 ภายใต้แนวคิด “เร่งเปลี่ยนผ่าน สานพลังภาคี สู่สังคมที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ Accelerating the Climate Transition” โดยมีคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมการประชุม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน Sustainability Expo (SX)  

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าแผนงานและมาตรการที่ทั่วโลกดำเนินการอยู่ในขณะนี้ สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2.5 – 2.9 องศาเซลเซียส ในขณะที่เป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีสต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งมั่นที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากสถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้วยเหตุนี้ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันออกไป และมีการบูรณาการดำเนินงานในหลากหลายมิติ เช่น การศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน การเสริมสร้างองค์ความรู้และศักยภาพของผู้ส่วนเกี่ยวข้องให้มีความพร้อม รวมไปถึงภาคการเงินการลงทุนที่นำไปสู่กิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่มีความยั่งยืน


“ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 พร้อมการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ให้ได้ร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 จึงต้องอาศัยทั้งกลไกการดำเนินงานภายในประเทศ เทคโนโลยี การเงิน ตลอดจนกลไกสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและบูรณาการ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และบูรณาการแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเข้าสู่ระดับพื้นที่ อีกทั้งได้ริเริ่มให้จังหวัดจัดทำบัญชีการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของจังหวัด ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นแกนกลางในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจและความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน”


ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในการประชุม TCAC 2024 ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงทิศทางและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเตรียมการตั้งรับ ปรับตัว การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับนโยบาย สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่การยกระดับการเตือนภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นเวทีสะท้อนให้กับเครือข่ายประชาสังคม และเยาวชน รวมถึงมีการแสดงนิทรรศการให้ความรู้ ทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐ เทคโนโลยีและงานวิจัยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกการเงิน โครงการความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี 

และที่สำคัญนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ซึ่งหลังจากการประชุม ประเทศไทยจะนำผลลัพธ์ของการประชุม TCAC 2024 ไปประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP 29 ในเดือนพฤศจิกายนนี้


“การประชุม TCAC 2024 นี้ จะเป็นการจุดประกาย และส่งต่อเจตนารมณ์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย และรักษาโลกใบนี้ไว้ให้กับอนุชนรุ่นต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น