xs
xsm
sm
md
lg

​มธ. หนุนใช้ “บล็อกเชน”​ เพิ่มโอกาสสินค้าเกษตรไทยบนเวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • นักวิชาการ มธ. หนุนใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก
  • • บริษัท บีเคพี นำร่องใช้บล็อกเชน ยกระดับความน่าเชื่อถือของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  • • บล็อกเชนช่วยติดตามย้อนกลับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้าวโพดปลอดการรุกป่าและการเผา
  • • เพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ ช่วยให้สินค้าเกษตรไทยมีราคาและความต้องการสูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ


ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนภาครัฐและเอกชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร ช่วยยกระดับมาตรฐาน และความยั่งยืน สร้างโอกาสทางการค้าในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของสินค้าปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมีบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคพี ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตอกย้ำเทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยเพิ่มความโปร่งใสของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลห่วงโซ่อุปทานปลอดจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและลดการเผาแปลง


ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการบล็อกเชน ยกระดับเศรษฐกิจการค้า ระยะที่ 5 กล่าวว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ช่วยให้การบันทึกข้อมูลสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานมีความโปร่งใส และน่าเชื่อถือ ลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารหรืออ้างมาตรฐานใบรับรองที่ไม่ถูกต้อง แนะภาครัฐและเอกชนผลักดันผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรพัฒนามาตรฐานข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับบนระบบบล็อกเชน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลของเจ้าของข้อมูลได้อัตโนมัติ เป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรไทยบนเวทีการค้าโลกที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาและห่วงโซ่อุปทานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“เทคโนโลยีบล็อกเชน ช่วยให้ข้อมูลที่ถูกบันทึกจะส่งต่อไปถึงทุกคนในเครือข่าย ซึ่งยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล เพราะทุกคนจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ส่งผลให้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรของไทยตอบความต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น” ศ.ดร.อาณัติกล่าว


นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ บีเคพี กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ให้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นเอกชนรายแรกที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้บันทึกข้อมูลในระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด ตามนโยบายของเครือซีพีที่จัดหาและนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าเกษตรที่มาจากแหล่งที่รับผิดชอบ ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และไม่ใช้วิธีเผาหลังเก็บเกี่ยว โดยระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมีการจัดเก็บข้อมูล ตั้งแต่รายชื่อเกษตรกร พิกัดแปลงปลูก จนถึงข้อมูลลานรับซื้อ และมีการประมวลผลสามารถติดตามแหล่งที่มาของผลผลิตตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ ปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รับซื้อในประเทศไทย 100% สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกว่าปลอดจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และที่สำคัญ เทคโนโลยีบล็อกเชน ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อข้อมูลในระบบตรวจสอบย้อนกลับ และยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับคู่ค้าอื่นๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

นอกจากนี้ บีเคพียังขยายผลนำข้อมูลในระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ติดตามการเผาแปลงเกษตรกรที่ลงทะเบียนในระบบ ช่วยให้สามารถควบคุมและกำกับดูแลลดการเผาแปลงและ ร่วมป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5


“ซีพีมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้กระบวนการการตรวจสอบย้อนกลับเกิดความโปร่งใสและน่าเชื่อถือตามมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะมาตรการของสหภาพยุโรป อาทิ กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทําลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) และมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความสมดุลและความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจสอบย้อนกลับที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายการจัดการห่วงโซ่อุปทานของ FIT ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ยืนยันว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาจากห่วงโซ่ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าได้ 100% ภายในปี 2025” นายวรพจน์กล่าว


บีเคพีได้รับเชิญให้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร เรื่อง “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ โอกาสการค้าและความยั่งยืน” ในงานสัมมนานําเสนอผลการดําเนินโครงการบล็อกเชน ยกระดับเศรษฐกิจการค้า ระยะที่ 5 ที่จัดโดยสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น