- • ฮิซามิทสึ ฟาร์มาซูติคอล จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ "เฟตัส ไดโคลฟีแนค" (FEITAS Diclofenac Patch)
- • ผลิตภัณฑ์นี้เป็นยาแก้ปวดภายนอกในกลุ่มพลาสเตอร์บรรเทาปวดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยา
- • ฮิซามิทสึ ฟาร์มาซูติคอล เป็นบริษัทผู้ผลิตยาแก้ปวดภายนอกอันดับหนึ่งของโลก
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ฮิซามิทสึ ฟาร์มาซูติคอล ประเทศญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตยาแก้ปวดภายนอก ในกลุ่มพลาสเตอร์บรรเทาปวดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยาอันดับหนึ่งของโลก จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” (FEITAS Diclofenac Patch) ครั้งแรกในประเทศไทยกับแผ่นแปะที่มีส่วนผสมของ “ไดโคลฟีแนค” สารสำคัญในกลุ่มยาแก้ปวด ซึ่งใช้ต้านการอักเสบกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก นำมาสู่ความท้าทายครั้งใหม่ในการพัฒนาให้สามารถซึมผ่านผิวหนังเพื่อลดผลข้างเคียงที่น้อยลง โดยแผ่นแปะบรรเทาปวด “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” นี้ มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์สูงถึง 24 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อปวดและอักเสบเรื้อรังชนิดรุนแรง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพ้ยาจากการใช้ยารับประทาน
มร. ทาโร่ ฮิรามัตสึ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส หัวหน้าฝ่ายระหว่างประเทศ บริษัท ฮิซามิทสึ ฟาร์มาซูติคอล คัมปะนี อิงค์ จำกัด เผยว่า “ปัจจุบันตลาดยาแก้ปวดในหมวดหมู่ OTC (ยาที่ไม่เป็นอันตรายหรือควบคุมพิเศษ) ในประเทศญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสเตอร์เป็นหลัก ซึ่งเราเชื่อว่า เทรนด์นี้กำลังขยายตัวไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถเลือกใช้บรรเทาอาการปวดได้ตรงจุด ใช้ง่าย สะดวกในการพกพา และเกิดผลข้างเคียงน้อย ต่างกับยาแก้ปวดชนิดรับประทานที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร หรือส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายที่ไม่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีรายงานระบุว่า พนักงานออฟฟิศวัย 30 – 40 ปี ร้อยละ 70 มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการปวดหลังจากโรคออฟฟิศซินโดรม และคนในวัย 50 – 60 ปีขึ้นไปต้องทนทุกข์จากอาการปวดหลังเรื้อรังและไหล่แข็ง ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวดของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากทางเลือกที่หลากหลาย และคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อไปในอนาคตเมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น ดังนั้นฮิซามิทซึจึงพร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์เรือธงใหม่ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” แผ่นแปะชนิดแรกในประเทศไทยที่มีส่วนผสมของไดโคลฟีแนค เพื่อเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายในการแก้ปัญหาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังชนิดรุนแรงในรูปแบบพลาสเตอร์ และมั่นใจว่าด้วยประสิทธิภาพที่เหนือชั้นของ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” จะช่วยบรรเทาอาการของผู้บริโภคในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น และเชื่อมั่นว่าจะช่วยผลักดันยอดขายในประเทศไทยให้เติบโตมากกว่าเดิมอย่างน้อย 2 เท่า ซึ่งจากข้อมูลการตลาดล่าสุดของ Nielsen พบว่าฮิซามิทสึมีส่วนแบ่งการตลาดแผ่นแปะบรรเทาปวดในประเทศไทยเป็นอันดับ 2 โดยมีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 142% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และ 328% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ยอดขายรวมทุกผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2567 (Fiscal Year) เติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว”
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ มร. คัตสึฮิโระ ซาโตะ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ผู้จัดการทั่วไป สำนักงานขาย APEA ฝ่ายระหว่างประเทศ ให้รายละเอียดว่า “พลาสเตอร์บรรเทาปวด “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” เป็นแผ่นแปะคุณภาพสูงที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของฮิซามิทสึ ในฐานะผู้นำด้านแผ่นแปะบรรเทาปวดระดับโลก ในการนำ “ไดโคลฟีแนค” ยาต้านการอักเสบชนิดหนึ่งซึ่งใช้กันแพร่หลายทั่วโลกในฐานะส่วนผสมทางการแพทย์เพื่อรักษาอาการปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก แต่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ใช้ค่อนข้างมากเมื่อนำมาใช้ในรูปแบบของยารับประทาน มาพัฒนาสู่การใช้เทคโนโลยีระบบส่งยาผ่านผิวหนัง (TDDS : Transdermal Drug Delivery System) ที่ปลอดภัยกว่า เพียงแปะพลาสเตอร์ลงบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการปวด สารออกฤทธิ์จะค่อย ๆ ปลดปล่อย และซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่บริเวณที่ปวดอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบผ่านกระบวนการยับยั้งการผลิตสารก่อการอักเสบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงและมีการอักเสบของกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่ออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารับประทาน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากการเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่น และมียอดขายสูงสุดในหมวดนี้ โดย “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดที่ยาวนานสูงถึง 24 ชั่วโมง มีผลข้างเคียงน้อย และช่วยบรรเทาอาการปวดในระยะยาวได้อย่างปลอดภัย โดยผู้ใช้จะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำหน่ายแบบซอง 2 แผ่น ราคา 99 บาท และซอง 7 แผ่น ราคา 299 บาท โดยเริ่มวางจำหน่ายแล้ว ณ ร้านขายยาระบบเครือข่าย (Key Chain Pharmacies) และร้านขายยาทั่วไป”
ดังนั้นพลาสเตอร์บรรเทาปวด “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” ซึ่งมีตัวยา “ไดโคลฟีแนค” จึงเป็นทางเลือกขั้นเหนือกว่าสำหรับผู้ที่มีอาการปวดขั้นรุนแรงและเรื้อรัง ในขณะที่ “ซาลอนพาส” ซึ่งเป็นที่รู้จักในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก มีตัวยา “เมทิลซาลิไซเลต” ที่มีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตึง กล้ามเนื้อล้า หรืออาการเคล็ดขัดยอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเพียงเล็กน้อย
“ไทยนับเป็นประเทศที่สองในการเปิดตัว “แผ่นแปะ ไดโคลฟีแนค” นอกประเทศญี่ปุ่น รองจากสิงคโปร์ ซึ่งทางฮิซามิทสึให้ความสำคัญในการจัดเตรียมแผนกลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบ ทั้งในส่วนของการกระจายสินค้าสู่ร้านขายยาทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงสินค้าได้ง่ายผ่านร้านขายยาใกล้บ้าน โดยตั้งเป้าขยายการจำหน่ายไปสู่ร้านขายยากว่า 13,000 แห่งในประเทศไทย การจัดทำโฆษณาผ่านสื่อทีวีและออนไลน์ ควบคู่กับการออกโรดโชว์จัดแสดงสินค้าตามแหล่งชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าผ่านความร่วมมือกับเภสัชกรอีกด้วย รวมทั้งมีแผนในการส่งออกไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม ภายในปี 2024 ฟิลิปปินส์และฮ่องกงในปี 2025 อีกด้วย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยประสิทธิภาพการบรรเทาปวดที่เหนือชั้นกว่าซาลอนพาส จะทำให้ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” ก้าวขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวธงสำคัญของบริษัทและเป็นแผ่นแปะบรรเทาปวดขวัญใจของผู้บริโภคชาวไทยในระยะเวลาอันสั้น” มร. คิว ไซโตะ กรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ต่างประเทศ กล่าวปิดท้าย
บริษัท ฮิซามิทสึ ฟาร์มาซูติคอล คัมปะนี อิงค์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตยาแก้ปวดภายนอก ในกลุ่ม พลาสเตอร์บรรเทาปวดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยาอันดับหนึ่งของโลก ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1847 และดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 177 ปี ภายใต้ปรัชญา “การส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับโลก” (Delivering a Better QOL to the World) ควบคู่กับการสืบทอดวัฒนธรรม “TE-A-TE” ไปทั่วโลก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ "วัฒนธรรมการรักษาแบบแปะ" โดยการพัฒนาไม่เพียงแค่แผ่นแปะผิวหนังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ อีกด้วย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของฮิซามิทสึที่จำหน่ายในประเทศไทย ประกอบด้วย แบรนด์ “ซาลอนพาส” ในรูปแบบ พลาสเตอร์บรรเทาปวด และครีม, แบรนด์ “เฟตัส ไดโคลฟีแนค” ที่อยู่ในหมวดหมู่ OTC (Over The Counter Drugs : ยาที่ไม่เป็นอันตรายหรือควบคุมพิเศษ) และแผ่นเจลลดไข้ ByeBye-FEVER ที่อยู่ในหมวดหมู่อุปกรณ์ทางการแพทย์