xs
xsm
sm
md
lg

สหฟาร์ม เปิดตัว ‘ปลาดุกบิ๊กอุย’ ดันส่งออก “เพื่อนบ้าน - อเมริกา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - สหฟาร์มตอกย้ำความแข็งแกร่งในฐานะเจ้าแรกของผู้ผลิตและส่งออกไก่สดแช่แข็ง ไก่แปรรูปแช่แข็งรายใหญ่ของไทย ประกาศรุกธุรกิจประมง พัฒนาสายพันธุ์ ‘ปลาดุกบิ๊กอุยสหฟาร์ม’ แตกไลน์สินค้าใหม่พร้อมสร้างมูลค่า เพื่อผลักดันการส่งออก คว้ามาตรฐานจีเอพี มกษ.(GAP มกษ.) จากกรมประมง และได้รับมาตรฐานฮาลาล (Halal) เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย


ดร.จารุวรรณ โชติเทวัญ ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บัญชี การเงิน และเลขานุการประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด (SAHA FARMS) เปิดเผยว่า จากงาน ThaiFex 2024 ที่ผ่านมา สหฟาร์มได้ทำการเปิดตัวสินค้าน้องใหม่ “ปลาดุกสหฟาร์ม” พร้อมประกาศรุกธุรกิจประมงเพื่อการส่งออก ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และยังได้รับเกียรติจากทางอธิการบดีกรมประมงในการเข้าเยี่ยมชมกิจการสหฟาร์มประมงลพบุรี ณ โรงงานสหฟาร์ม จังหวัดลพบุรี เป็นครั้งแรก

โดยทางสหฟาร์มได้มีโอกาสในการเปิดให้หน่วยงานภาครัฐได้เห็นถึงกรรมวิธีและขั้นตอนการเลี้ยงปลาดุกครบวงจรของสหฟาร์ม ที่มีทั้งพ่อแม่พันธุ์ปลาของตัวเอง มีโรงงานอาหารสัตว์อัดเม็ดสำหรับปลาดุก โดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีบ่อปลาดุกธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี และโรงงานหั่นที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด

“สหฟาร์มต้องการต่อยอดความสำเร็จในธุรกิจอย่างครบวงจร โดยในปีนี้เราได้มุ่งมั่นในผลักดันในธุรกิจประมง เนื่องจากเดิมทีสหฟาร์ม ได้มีการเริ่มดำเนินการเลี้ยงปลาดุกมาตั้งแต่ ปี 2545 โดยได้ทำการปรับปรุงสายพันธุ์จนได้เป็นปลาดุกสายพันธุ์เฉพาะของสหฟาร์มเอง โดยตั้งชื่อให้สายพันธุ์นี้ว่า “ปลาดุกบิ๊กอุยสหฟาร์ม” และด้วยกรรมวิธีการเลี้ยงในบ่อดินแบบธรรมชาติ ที่ดูแลและใส่ใจในทุกขั้นตอน จึงทำให้ปลาดุกสหฟาร์มมีรสชาติดี เนื้อสัมผัสแน่น ชุ่มฉ่ำ ไม่มีกลิ่นคาว หนังหนา มีไขมันแทรกในเนื้อ มีคุณค่าทางสารอาหารที่ดีเลิศ เป็นที่นิยมรับประทานของลูกค้าในไทยอย่างแพร่หลาย”


โดยปลาที่สหฟาร์มทำการขาย จะมีทั้งปลาย่างและปลาโบ้ ซึ่งมีทั้งขายส่งและขายปลีก สำหรับปลาดุกสหฟาร์มจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงถึง 4-5 เดือน จึงจะสามารถคัดไซส์และจับขายได้ อย่างปลาดุก ขนาด 3-4 ตัว/กิโลกรัม จะไว้สำหรับทั้งขายส่ง-ขายปลีก ให้แก่ลูกค้าในจังหวัดต่างๆ อาทิ พิษณุโลก, นครสวรรค์, แม่สอด เชียงราย, เลย, ชัยภูมิ รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนปลาดุกที่ขนาด 1-2 ตัว/กิโลกรัม ก็จะคัดสู่โรงหั่นปลาเพื่อหั่นชิ้นโดยเครื่องจักรที่ทันสมัย มีระบบการจัดการแบบโรงงานที่เน้นเรื่องของความสะอาดในทุกๆ ขั้นตอนการผลิตและทุกๆ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากกระบวนการอันมีมาตรฐาน และจากความนิยมของลูกค้า บวกกับปลาดุกถือเป็นปลาเศรษฐกิจ จึงทำให้สหฟาร์มต้องการต่อยอดความสำเร็จนี้ ผ่านการผลักดันปลาดุกไทยให้เกิดโอกาสทางการตลาดสู่ประตูการค้าโลก และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกของเนื้อสัตว์ให้แก่ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันในบ่อเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกสหฟาร์มสามารถผลิตลูกปลาได้ราว 120 ล้านตัว/เดือน โดยสหฟาร์มได้มีบ่อเลี้ยงปลาดุกมากถึง 375 บ่อ ซึ่งแบ่งเป็น กิจการประมงลพบุรี จำนวน 138 บ่อ/ จำนวน 242 ไร่ และกิจการประมงเพชรบูรณ์ จำนวน 237 บ่อ/จำนวน 600 ไร่ โดยมีกำลังการผลิตทั้งจากของลพบุรีและเพชรบูรณ์ ที่สามารถเลี้ยงปลาได้เฉลี่ย 350 ตัน/เดือน เลยทีเดียว
จากกระบวนการคุณภาพที่ได้มาตรฐานทำให้สหฟาร์ม ได้รับมาตรฐานจีเอพี มกษ.(GAP มกษ.) จากกรมประมง และทางบริษัทฯ ยังได้รับมาตรฐานฮาลาล(Halal) และเครื่องหมายฮาลาล (Halal) จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในสินค้าปลาดุกหั่นเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย

สำหรับปลาดุกสหฟาร์มในตอนนี้สินค้าเราก็ มีอยู่ 3 แบบ คือแบบปลาดุกตัว ที่เราขายทั้งปลีก-ขายส่ง และมีแบบหั่นชิ้น เหมาะเอาไว้สำหรับปรุงอาหาร ประเภท แกง ผัด นอกจากนี้เรายังเพิ่มแบบแล่เนื้อ แบบนี้จะไม่มีก้าง จะได้เนื้อล้วนชิ้นใหญ่ เหมาะกับผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในแผนขั้นต่อไป สหฟาร์มตั้งเป้าผลักดันปลาดุกไทยเพื่อการส่งออก โดยยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับกลุ่มเป้าหมายประเทศเพื่อนบ้าน และแถบประเทศอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาในการผลักดันใน 1-2 ปีนี้














กำลังโหลดความคิดเห็น