- • สุรพงษ์ ร่วมงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีการขนส่งระดับนานาชาติ InnoTrans 2024 ณ กรุงเบอร์ลิน
- • ร่วมประชุมกับผู้บริหารบริษัท Siemens
- • กระชับความร่วมมือพัฒนาระบบรางของไทย
"สุรพงษ์" ร่วมงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีการขนส่งระดับนานาชาติ ปี 2567 (InnoTrans 2024) ณ กรุงเบอร์ลิน พร้อมร่วมประชุมกับผู้บริหารบริษัท Siemens กระชับความร่วมมือพัฒนาระบบรางของไทย
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้แทนของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีการขนส่งระดับนานาชาติ InnoTrans 2024 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อศึกษาเทคโนโลยีด้านระบบราง พร้อมผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางของประเทศไทย
นายสุรพงษ์กล่าวว่า งาน InnoTrans 2024 ครั้งนี้มีบริษัทชั้นนำกว่า 2,700 แห่งจากทั่วโลกร่วมแสดงนวัตกรรมด้านการผลิตตัวรถไฟ ระบบขับเคลื่อน ระบบจ่ายพลังงาน และระบบควบคุมเดินรถ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่าหมื่นคนต่อวัน งาน InnoTrans 2024 เป็นโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมระบบรางระดับโลก รวมถึงได้เห็นการแสดงนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำระดับโลก รวมถึงบริษัทของไทย
การเข้าร่วมงาน InnoTrans ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับการให้บริการแก่ประชาชน นำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
ภายหลังเยี่ยมชมงาน คณะผู้แทนของกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Siemens ได้แก่ Mr. Michel Obadia, Mr. Karl Blaim และ Mr. Tomasz Mazur เพื่อหารือเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-เยอรมนี
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งครอบคลุม 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 553.41 กิโลเมตร ปัจจุบันไทยได้เปิดให้บริการแล้ว 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 โครงการ รวมระยะทาง 70.90 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างอีก 1 เส้นทาง ที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีของเยอรมนีมาใช้ในระบบรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ทั้งตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณ นอกจากนี้ ยังได้นำระบบ APM ซึ่งเทคโนโลยีของเยอรมนีมาใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย
ในส่วนของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ประเทศไทยกำลังก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงหลายโครงการ ซึ่งจะช่วยยกระดับการขนส่งทางรางของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางอย่างต่อเนื่อง นอกจากโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังมีแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักของประเทศ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา หาดใหญ่ และภูเก็ต ดังนั้น ความร่วมมือกับเยอรมนีได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้แก่คนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมาก
"การมาเยือนประเทศเยอรมนีในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมนี ทั้งในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมลงทุน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการขนส่งทางรางให้แก่คนไทยต่อไป นอกจากการเข้าร่วมงาน InnoTrans 2024 แล้ว คณะผู้แทนของกระทรวงคมนาคมยังมีกำหนดการศึกษาดูงานด้านระบบรางในเมืองสำคัญของเยอรมนี ได้แก่ เบอร์ลิน โคโลญ และมิวนิก ซึ่งจะทำให้ได้เห็นตัวอย่างของการพัฒนาและบริหารจัดการระบบรางที่มีประสิทธิภาพของเยอรมนีต่อไป"