- • เซ็นสัญญา PPA โซลาร์ฟาร์ม 8 โครงการ รวม 323.3 เมกะวัตต์
- • ทยอยเดินเครื่อง COD ตั้งแต่ปี 69-73
- • สอดคล้องเป้าหมายเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50%
- • มุ่งสู่เป้าผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 73
“บี.กริม เพาเวอร์” เซ็นสัญญา PPA โซลาร์ฟาร์ม 8 โครงการ รวม 323.3 เมกะวัตต์ เตรียมทยอยเดินเครื่อง COD ตั้งแต่ปี 69-73 สอดคล้องเป้าหมายเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% และสู่เป้าผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ในปี 73
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทย่อย และกิจการร่วมค้าที่ BGRIM ถือหุ้นร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar farms) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 323.3 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปี 2569 ถึงปี 2573
ทั้งนี้ โครงการโซลาร์ฟาร์มจำนวน 8 โครงการ ได้แก่ 1. บริษัท ซีเอ็มที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ขนาด 20 เมกะวัตต์ กำหนด COD ปี 2569, 2. บริษัท สมาร์ท คลีน ซิสเท็ม 5 จำกัด ขนาด 20 เมกะวัตต์ COD ปี 2570, 3.บริษัท ซีแอลพี พาวเวอร์ จำกัด ขนาด 20 เมกะวัตต์ COD ปี 2570, 4. บริษัท พาวเวอร์ ซี.อี. จำกัด ขนาด 129 เมกะวัตต์ COD ปี 2570, 5. บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 88 จำกัด ขนาด 6.3 เมกะวัตต์ COD ปี 2571, 6. บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 111 จำกัด ขนาด 10 เมกะวัตต์ COD ปี 2571, 7. บริษัท โวลต์ซิงค์ โซลูชั่น จำกัด ขนาด 108 เมกะวัตต์ COD ปี 2571 และ 8. บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน จำกัด ขนาด 10 เมกะวัตต์ COD ปี 2573
สำหรับการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน สอดคล้องกับกลยุทธ์ GreenLeap-Global and Green เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกพลังงานและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ด้วยการจัดหาพลังงานที่มีเสถียรภาพ สามารถเข้าถึงได้และสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก
ขณะเดียวกัน บี.กริม เพาเวอร์มุ่งมั่นที่จะขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาในหลายประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา กรีซ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งประเทศไทย โดยการขยายการลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว และยังเป็นการขยายความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573