xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เดินหน้ามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน "คมนาคมขนส่ง"มุ่งลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • สนข. ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกภาคคมนาคม 45.61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2573
  • • จัดสัมมนาปฐมนิเทศโครงการศึกษาข้อมูลฐาน (Baseline data) และการประเมิน (Tracking)
  • • โครงการศึกษาข้อมูลฐานมุ่งเน้นประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ
  • • การประเมิน (Tracking) จะช่วยติดตามและวัดผลความสำเร็จของมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก
  • • โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันยุทธศาสตร์ลดก๊าซเรือนกระจกของ สนข.


สนข.เดินหน้ามาตรการยกระดับลดก๊าซเรือนกระจกภาคคมนาคม 45.61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี พ.ศ. 2573 จัดสัมมนาปฐมนิเทศโครงการศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline data) และการประเมิน (Tracking) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานการสัมมนาเพื่อเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 1 การสัมมนาปฐมนิเทศโครงการ การศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจก จากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน จาก 38 หน่วยงาน ประมาณ 120 คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ

นายจิรโรจน์กล่าวว่า สนข.ได้ทำการศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ ซึ่งการศึกษานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline data) และจัดทำระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) ในการวิเคราะห์และประเมินการลดการใช้พลังงาน ก๊าซเรือนกระจก และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของแผนงานโครงการในกลุ่มมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ และกลุ่มมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นมาตรการหลักที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ 


ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาตรการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างเมือง และมาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่ง การดำเนินโครงการนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2566-2580 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ตลอดจนแผนและนโยบายสำคัญอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งล้วนมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาการดำเนินการ 540 วัน (ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2567-31 ธันวาคม 2568)


นายจิรโรจน์กล่าวว่า ประเทศไทยของเราได้แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 เมื่อปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ประเทศไทยได้ยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) หรือ Thailand's Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 หรือ NDC Roadmap จากเดิมร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งคิดเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 167-222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ในส่วนของภาคคมนาคมขนส่ง ได้รับมอบหมายให้ลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 45.61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สนข. เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตาม NDC รวมทั้งบรรลุเป้าหมายตามแผนระยะยาวในการมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ของประเทศไทย ซึ่งภาคคมนาคมขนส่งจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายเหล่านี้


“ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน จึงให้ความสำคัญในการร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาดังกล่าวยังสาเหตุของปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ และปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหนักอย่างฉับพลัน ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนาน หรือเหตุการณ์หิมะตกในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิของกลุ่มประเทศยุโรปในปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น โดยโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้ว 1.3 องศาเซลเซียส จากค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม ที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่ม ซึ่งเป็นพายุที่มีกำลังแรงมากที่สุดที่พัดถล่มในเอเชียปีนี้ มีปริมาณน้ำฝนเกิน 400 มิลลิเมตร


นอกจากนี้ ในภูมิภาคนี้ยังได้รับผลกระทบจากพายุอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น พายุไต้ฝุ่นแกมี และพายุไต้ฝุ่นชานชาน และคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีโอกาสเกิดภัยพิบัติต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลที่เกิดมาจากโลกที่มีอุณภูมิสูงขึ้นหรือภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในปัจจุบันหลายๆ คนพูดว่า คือ ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ หากเราทุกคนไม่ตระหนักรู้และร่วมมือกันการแก้ไขปัญหา

สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับนำไปใช้ประกอบการศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น