xs
xsm
sm
md
lg

SCC รับมือวิกฤต "ปิโตรเคมีดิ่ง" ลากยาว โครงการ LSP อ่วม! ปรับแผนใช้ "อีเทน" 'SCGC' อดลุ้นเข้าหุ้นในปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด สงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยลบกดดันให้ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์เพื่อพลิกเกมควบคู่ ขณะเดียวกันบางอุตสาหกรรมที่มีการฟันธงจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2567 แต่สุดท้ายผิดคาดหัวทิ่มลงต่อแบบหักปากกาเซียน

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC กล่าวว่า เดิมเคยคาดการณ์ตลาดปิโตรเคมีจะฟื้นตัวขึ้นในครึ่งหลังปี 2567 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวเนื่องมาจากความต้องการใช้พลาสติกไม่โตอย่างที่คาดไว้ ขณะที่กำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่ก็ยังเข้าสู่ตลาดตามกำหนด ทำให้กำลังการผลิตปิโตรเคมีล้นตลาด ราคาน้ำมันดิบผันผวน กดดันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกยังอ่อนตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงงานขนาดเล็กในจีนเริ่มปิดตัวไปแล้วราว 3% และเชื่อว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง


ทำให้โครงการ "ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์" (Long Son Petrochemicals - LSP) ที่เวียดนามต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเพิ่งสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยโครงการ LSP เป็นโรงงานแบบ Single Complex ยังไม่มีการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม (HVA) รวมถึงสินค้าพรีเมียมเลย ต่างจากโครงการปิโตรเคมีของ SCC ในประเทศไทยที่ได้มีการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ HVA ที่ขายได้มาร์จิ้นสูงกว่าเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไป และยังมีการต่อยอดไปผลิตสินค้าอื่นๆ ที่ได้ราคา ส่งผลให้โครงการ LSP จึงเหนื่อยสุด และการแข่งขันยากลำบากในภาวะปัจจุบันที่อยู่ในช่วงวัฏจักรปิโตรเคมีลงลึกและยาวนาน

เพื่อให้โครงการ LSP มีประสิทธิภาพแข่งขันได้ไปอย่างน้อย 10 ปี ทำให้ SCC ตัดสินใจปรับแผนการใช้ Feedstock เป็นก๊าซอีเทนที่มีราคาถูกแทนการใช้ก๊าซโพรเพนและแนฟทาที่มีราคาแพงในปัจจุบัน คาดว่าช่วยลดต้นทุนค่าวัตถุดิบราว 30-40% เนื่องจากปัจจุบันราคาก๊าซโพรเพนได้ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้จากจีนที่มีการนำมาผลิตเม็ดพลาสติก ทำให้ราคาที่ควรปรับลดตามฤดูกาลไม่เป็นเหมือนในอดีตอีกต่อไป ล่าสุดราคาก๊าซโพรเพนขยับมาใกล้เคียงราคาแนฟทาที่ 650 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาก๊าซอีเทนที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 300-350 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาก๊าซอีเทนมีความผันผวนน้อยกว่าราคาแนฟทาด้วย

อย่างไรก็ดี การใช้ก๊าซอีเทนเป็นวัตถุดิบจำเป็นต้องมีการลงทุนสร้างถังเก็บก๊าซอีเทนโดยเฉพาะ และปรับเครื่องจักรโรงงานบางส่วน เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างถังเก็บก๊าซอีเทนราว 3 ปีคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2570 ขณะเดียวกันบริษัทต้องจัดหาก๊าซอีเทนโดยสัญญาซื้ออีเทนจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งทำสัญญาการขนส่งอีเทนระยะยาว เพื่อให้บริษัทขนส่งมั่นใจในการลงทุนต่อเรือฯ ขนส่งที่จะทยอยแล้วเสร็จ ทำให้โครงการ LSP จะสามารถใช้อีเทนได้เต็มกำลังผลิตภายในปี 2572

ช่วงระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างถังเก็บก๊าซอีเทนนั้น ยังต้องระมัดระวังการเดินเครื่องจักรโครงการ LSP ทำให้บางช่วงเวลาอาจจะใช้กำลังผลิตลดลง หรืออาจหยุดผลิตเลยก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดมีการแข่งขันรุนแรงหรือไม่ และมีมาร์จิ้นมากน้อยเพียงใด โดยบริษัทจะบริหารการผลิตให้เหมาะสมของ 3 โรงงานแครกเกอร์ทั้ง MOC, ROC และ LSP เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เน้นผลิตในโรงงานที่ให้มาร์จิ้นสูงสุด จนกว่าการก่อสร้างถังเก็บอีเทนในโครงการ LSP แล้วเสร็จ ทำให้โรงงาน LSP มีความยืดหยุ่นการผลิตมากขึ้น เลือกใช้วัตถุดิบที่มีราคาถูกทั้งอีเทน โพรเพน และแนฟทา มีผลช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ


ทั้งนี้ โครงการ LSP สามารถใช้ก๊าซอีเทนได้สูงถึง 100% เนื่องจากเป็นโครงการที่ถูกออกแบบรองรับการใช้วัตถุดิบก๊าซอีเทนอยู่แล้ว แต่ภายหลังตัดสินใจไม่สร้างถังเก็บก๊าซอีเทน เพราะเห็นว่าได้โปรดักต์น้อย จึงเลือกใช้แนฟทาและก๊าซโพรเพนเป็น Feedstock เหมือนกับโรงงานปิโตรเคมีในไทยที่มีความเข้มแข็ง หลังจากนั้นบริษัทจะวางแผนขยายโครงการ LSP เฟส 2 ก็จะขยายการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ซึ่งหาก SCC จะยึด Business Model เหมือนกับโครงการปิโตรเคมีไทยก็ทำได้แต่ต้องใช้เวลา 10 ปี แต่ขณะนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลง จึงไม่อาจรอได้อีก

นายธรรมศักดิ์กล่าวยอมรับว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2568 ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว ดังนั้นแผนการนำบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ซึ่งเป็นบริษัทลูก เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ก็เป็นไปได้ยาก และไม่น่าจะได้เห็นในปีหน้า หลังจากเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2566 SCC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถเสนอขายหุ้น IPO ของ SCGC ได้ตามกำหนด ดังนั้นหากสถานการณ์เศรษฐกิจเอื้ออำนวย บริษัทจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filling) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี การระดมทุนมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเสนอขายหุ้น IPO ของSCGC เสมอไป เช่น การออกหุ้นกู้ ฯลฯ รอจนกว่าสัญญาณการฟื้นตัวอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความชัดเจน ทิศทางเศรษฐกิจโลกขยายตัว และตลาดหุ้นไม่ผันผวนจึงค่อยเสนอบอร์ดฯ ในการนำ SCGC เข้าตลาดหุ้นต่อไป

ก่อนหน้านี้ SCC ปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์เพื่อเตรียมสปินออฟ (spin off) เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น โดยนำเงินจากการระดมทุนมาใช้ในการขยายธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) รวมทั้งแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องในประเทศเวียดนามที่จะเป็นฐานการผลิตปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองจากประเทศไทย โดยช่วงนั้น SCC มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการปิโตรเคมี LSP เฟส 2 ที่เวียดนามด้วย เพื่อรองรับความต้องการสินค้าปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะจีนที่เพิ่มมากขึ้น แต่สุดท้ายแผนการขยาย LSP เฟส 2 ต้องเลื่อนแบบไม่มีกำหนด แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นพับแผนฯ แต่ต้องรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ จนกว่าการสร้างถังเก็บก๊าซอีเทนจะแล้วเสร็จ และตลาดปิโตรเคมีในเวียดนามจะมากเพียงพอรองรับโครงการใหม่


อัดงบลงทุน 5 ปี 2 แสนล้านบาท

ด้านประมาณการลงทุนในอนาคต SCC วางงบลงทุน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2568-2573) อยู่ที่ 200,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ส่วนการลงทุนโครงการใหม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบบนมาตรการคุมเข้มทางการเงิน และมุ่งลดเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจลง 10-15% จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งโฟกัสในธุรกิจที่มีศักยภาพและเน้นสินค้า Low Carbon โดยยืนยันว่าฐานะการเงิน SCC มีความเข้มแข็ง โดยครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทมีเงินสดคงเหลือ 78,907 ล้านบาท

นายธรรมศักดิ์ประเมินทิศทางการดำเนินธุรกิจจากนี้ไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า ยังเผชิญความท้าทายมากจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมทั้งกฎเกณฑ์และโอกาสใหม่ๆ จากเทรนด์รักษ์โลก ดังนั้นทุกธุรกิจของ SCC จึงได้มีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลกมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเพื่อผลิตสินค้าที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอน (Low Carbon) เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้มาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่เริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศ สอดคล้องแนวทาง Inclusive Green Growth สร้างความสามารถการแข่งขันระยะยาว

อาทิ เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้มาตรการภาษีคาร์บอน โดยบริษัทพัฒนาและผลิตปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 2 โดยปีนี้สามารถส่งออกปูนคาร์บอนต่ำไปสหรัฐอเมริกาได้แล้วมากกว่า 1 ล้านตัน รวมทั้งยังสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และแคนาดา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 3 ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการทดแทนปูนเม็ดในการผลิต ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ 40-50% รวมทั้งเร่งขยายกำลังการผลิตปูนคาร์บอนต่ำในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเป็นฐานการส่งออกในอนาคต

ส่วนเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สินค้าหลักอย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะมุ่งพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ พร้อมดีไซน์สวยและแข็งแรงทนทาน นอกจากนี้มีแผนใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มความรวดเร็วและปรับได้ตามความต้องการลูกค้า ควบคู่กับพัฒนากระบวนการผลิต


ส่วนธุรกิจ New S-Curve เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ บริษัทเล็งเห็นศักยภาพธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ จึงเดินหน้าขยายการลงทุนสู่อาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มุ่งสู่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,500 เมกะวัตต์ในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ โดยปี 2568 ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 300 เมกะวัตต์รวมเป็น 900 เมกะวัตต์ โดยจะยื่นประมูลเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เฟส 2 จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อีกจำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์

สำหรับเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและ AI ยกระดับระบบจัดจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าและคู่ค้าเข้าถึงสะดวกขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเก็บสินค้าคงคลัง และสามารถคาดการณ์ความต้องการสินค้าในอนาคต ช่วยให้ธุรกิจแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นภายใต้ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ปรับ mindset แก้เกมสินค้าจีนยึดตลาดไทย

ส่วนกรณีที่สินค้าจีนเข้ามาทุ่มตลาดไทย นายธรรมศักดิ์กล่าวว่า ธุรกิจในเครือ SCC ย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนใหญ่กว่าไทยหลายสิบเท่า และสเกลการผลิตของจีนก็ใหญ่กว่าเรามาก โดยจากนี้ไปสินค้าจีนที่เข้ามาขายในไทยไม่ใช่สินค้าด้อยคุณภาพ แต่จะเป็นสินค้าคุณภาพดีราคาถูก เราต้องปรับทัศนคติ (mindset) การแข่งขันกับสินค้าจีนจะต้องแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและรูปแบบดีไซน์ หากสินค้าตัวไหนที่จีนผลิตได้ดีและมีราคาถูกกว่า SCC ก็จะซื้อสินค้าจีนมาประกอบเป็น System เพื่อให้ได้ต้นทุนถูกสุดและดีสุด แล้วเสนอขายเป็น System แทนการขายสินค้ารายชิ้นเหมือนในอดีต เช่น การขายระบบหลังคา (Roof System ), ระบบผนัง (Wall System) มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ฯลฯ

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้จีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ดังนั้นการตั้งโรงงานใหม่จากเดิมเคยสั่งซื้อเครื่องจักรจากอิตาลีก็เปลี่ยนสั่งซื้อเครื่องจักรจากจีนแล้วมาปรับต่อ เพื่อให้สินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพและดีไซน์ดีขึ้น รวมทั้งมีการใช้หุ่นยนต์ (Robot) ในการผลิตทำได้เร็ว ความเสียหายน้อย ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำแข่งขันกับสินค้าจีนได้ เชื่อมั่นเป็นทางออกในการแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยได้ และยังมีโอกาสที่เราจะส่งออกไปจำหน่ายในตลาดจีนด้วย


ตั้งเป้าปี 68 รายได้โต 10%

SCC มั่นใจในปี 2568 มีรายได้เติบโตขึ้น 10% ต่อเนื่องจากปีนี้ที่คาดว่าบริษัทรายได้โตขึ้น 10% จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 5.28 แสนล้านบาท โดยปีหน้ามีปัจจัยบวก โดยหลักๆ ยังคงมาจากกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจในต่างประเทศทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ยังไปได้ดี ภาพรวมธุรกิจซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ส่วนธุรกิจแพกเกจจิ้ง คาดว่าจะกลับมาดีขึ้น เว้นธุรกิจปิโตรเคมียังต้องระมัดระวัง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเผชิญกับภาวะล้นตลาด และความต้องการใช้ที่ไม่เติบโตขึ้น แต่พบว่าตลาดมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin - PCR) มาก จนปัจจุบันโรงงานในไทยที่ผลิตอยู่มีปริมาณการขายไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตเม็ด PCR เพิ่มขึ้นทั้งในไทยและมีแผนลงทุนตั้งโรงงานในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ SCGC พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกสำหรับกระบวนการ Chemical Recycling โดยเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ Recycled Feedstock สำหรับโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งสามารถนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) ตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน โดยก่อสร้างโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงาน จังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคต

สอดคล้องนโยบายของ SCC ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยวางเป้าหมายเพิ่มปริมาณการขายรวมสินค้ากลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล Post-Consumer Recycled (PCR) เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของแบรนด์สินค้ารายใหญ่ระดับโลกหลายๆ แบรนด์ที่ได้ประกาศพันธสัญญาสนับสนุนการรีไซเคิลและการใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ความต้องการของตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น