“เอกนัฏ” เล็งออกมาตรการดึงการลงทุนต่างชาติสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเร่งความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ยกระดับด้วยนวัตกรรม-เทคโนโลยี และพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน มอบหมายให้ กนอ.เร่งผุดนิคมเอสเอ็มอี และตั้งทีมงานรื้อแก้กฎหมายฯ เดินหน้าตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงปาฐกถาพิเศษภายใต้แนวคิด “Now Thailand : Sustainable Futures ลงทุนในประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 “Eco
Innovation Forum 2024” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกมาตรการเพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศรองรับการย้ายฐานการผลิต สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยต้องได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของทุนต่างชาติด้วย โดยได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี
ขณะเดียวกันต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ ยกระดับด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับตัวพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปัจจุบันถูกใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า จำเป็นที่ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวทันทีเพื่อไม่ให้กระทบต่อการค้าและการส่งออก
ขณะที่ภาครัฐจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโครงสร้างการผลิต โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ (Now Thailand) ไม่เพียงทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนเท่านั้น แต่เป็น "ทางด่วน" ที่จะเร่งการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายเอกนัฏกล่าวต่อไปว่า กระทรวงอุตสาหกรรมวางนโยบายขับเคลื่อน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยตนได้ส่งสัญญาณว่าจะเร่งออกมาตรการช่วยภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมขึ้นมา ซึ่งเงินกองทุนฯ มาจากการเงินกองทุนต่างๆ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มีการถูกนำมาใช้รวบรวมเป็นกองทุนเดียว แล้วกำหนดวัตถุประสงค์ชัดเจนในการใช้เงินกองทุนฯเช่น การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษกากอุตสาหกรรม และการช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้านเทคโนโลยีสร้างความเข้มแข็งฯ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาแก้ไขกฎหมายต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยให้การทำงานมีความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า แผนการพัฒนานิคมฯ สู่มาตรฐานสากล ยกระดับนิคมฯ สู่การเป็นนิคมฯ ที่ยั่งยืน สร้างความยั่งยืน และกลไกการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ GDP ไทยเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าลดคาร์บอนและมุ่งสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งขณะที่ความเป็นจริง ไทยกำลังถูกดันให้เข้าสู่ Net Zero เร็วขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น และเกาหลีใช้เป้าหมาย Net Zero 2050 ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทย
"NOW Thailand วันนี้ไม่ใช่แค่แผนหรือแนวคิด แต่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาสังคม และสถาบันการเงิน ในการเร่งรัดการลงทุนและยกระดับอุตสาหกรรมสู่ Next-Gen Industry ที่เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายร่วมกันภายใต้แนวคิด ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) ส.อ.ท.และ กนอ.พร้อมเป็นพันธมิตรกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ"
ทั้งนี้ ในงาน “Eco Innovation Forum 2024” มีพิธีมอบโล่เกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณให้แก่นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมที่ยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class 9 แห่ง ระดับ Eco-Excellence 25 แห่ง ระดับ Eco-Champion 40 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) 79 แห่ง และโรงงานเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกดีเด่น 5 แห่ง