ในช่วงหลังวิกฤตการระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบกับภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญ ในการสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย ธุรกิจสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ ในการพานักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ ก่อนจะส่งต่อไปยังธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สุขภาพและความงาม แหล่งท่องเที่ยว และสถานบันเทิงต่าง ๆ เร่งฟื้นตัว เพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่ถาโถมเข้ามาอีกครั้ง
จากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากตลาดสำคัญ เช่น การยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อาทิ จีน และอินเดีย ให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้เห็นการขานรับนโยบายจากหลายภาคส่วน ทั้งการลงทุนขยาย สนามบิน การจัดกิจกรรมอีเวนท์ด้านการท่องเที่ยว และการเพิ่มฝูงบินของสายการบินต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การจ้างงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ตามข้อมูลจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน สายการบินต่าง ๆ ในประเทศไทยได้นำเครื่องบินเข้ามาทำการบินเพิ่ม ทั้งเครื่องบินลำตัวกว้างแบบแอร์บัส รุ่น A330, A350 และ โบอิ้ง787 รวมถึงเครื่องบินทางเดินเดี่ยว แบบแอร์บัส A320 และโบอิ้ง737 รวมทั้งเครื่องบินบรรทุกสินค้า รวมกันถึงจำนวน 22 ลำ ส่งผลให้มีนักบินบางส่วนที่ต้องหยุดบินไปในช่วงโควิด ถูกเรียกกลับมาประจำการในสายการบินต่าง ๆ จำนวนกว่า 200 คน
นอกจากนั้น นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค หรือ “เอวิเอชั่น ฮับ” (Aviation Hub) ทำให้หลายสายการบินต่าง ๆ ได้วางแผนขยายฝูงบินอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากข้อมูลล่าสุดที่การบินไทยประกาศลุยขยายฝูงบินเร่งด่วนภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โดยขณะนี้ได้ประกาศวางคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่แล้วจำนวน 45 ลำแล้ว และกำลังพิจารณารายละเอียดการสั่งซื้ออีก 35 ลำ ทำให้การบินไทยจะมีเครื่องบินใหม่รวมเกือบ 80 ลำ ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำมาทดแทนเครื่องบินที่จะปลดประจำการ ขณะที่สายการบินไทยแอร์เอเชียตั้งเป้าเพิ่มฝูงบินเช่นเดียวกัน จากที่ปัจจุบันมีอยู่ 58 ลำ ให้เป็น 100 ลำ ภายใน 5 ปีข้างหน้า รวมไปถึงการเปิดตัวสายการบินใหม่ในประเทศไทย อีก 9 สายการบิน ตามที่ กพท. ได้ออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) อย่างเช่น “เรียลลี คูล”
นี่คือข้อมูลที่ฉายภาพสะท้อนของธุรกิจการบินที่กำลังเร่งเครื่องสู่การพลิกฟื้นและหวังจะเติบโตแบบก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม… ความท้าทายขณะนี้อยู่ที่การจัดหาเครื่องบิน นักบิน และบุคลากรทางการบินเข้ามารองรับความต้องการการขยายฝูงบินในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้ ทันท่วงทีเพื่อรองรับการมุ่งสู่ “เอวิเอชั่น ฮับ หรือ ฮับ การบิน” ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสด้านอาชีพในอุตสาหกรรมการบินอีกมาก
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และกำหนดมาตรฐาน ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ส่งสัญญาณในการเตรียมความพร้อม ที่จะสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยจัดงาน Thai Aviation Job and Education Fair ขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2567 ที่ตึกเอ็มกลาส ศูนย์การค้าดิ เอ็มสเฟียร์ ในงานมีการรับสมัครงานจากสายการบิน และหน่วยงานชั้นนำด้าน การบิน รวมทั้งกิจกรรมแนะนำการศึกษาต่อ จากสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน และกิจกรรมสร้าง แรงบันดาลใจด้านการบิน ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงาน เพื่อค้นหาข้อมูล และวางรากฐานอาชีพที่มั่นคง เมื่อประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการบินในอนาคต