- • นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มุ่งเน้นเพิ่มรายได้ให้ รฟท. โดยมีแผนเปิดให้เอกชนเช่าใช้รางเพื่อเดินรถขนส่งสินค้าและส่งเสริมการขนส่งทางรางในประเทศ
- • รอ พ.ร.บ. ขนส่งทางรางฯ บังคับใช้ เพื่อขับเคลื่อนแผนงาน
- • ไม่กังวลเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน และพร้อมดำเนินการ
- • จะแยกบัญชีหนี้บริการสังคมออกจากหนี้ลงทุน และหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและขาดทุน
"วีริศ" ชูธงเพิ่มรายได้ รฟท. เล็งเปิดรางให้เอกชนเช่าใช้เดินรถขนส่งและหนุนขนส่งทางรางประเทศเพิ่ม รอ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ บังคับใช้พร้อมขับเคลื่อน ไม่กังวลสหภาพฯ พร้อมลุยแยกบัญชีหนี้บริการสังคม หนี้ลงทุนหารือคลังแก้หนี้-ขาดทุนยั่งยืน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงเป้าหมายในการทำงานว่า จากที่ตนได้แสดงวิสัยทัศน์ คือ ลดภาระหนี้ เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความพอใจในการให้บริการ ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งจะต้องลงไปในรายละเอียดแต่ละเรื่องเพิ่มเติมก่อน สำหรับปัญหา รฟท.ที่มีหนี้สินกว่า 2.3 แสนล้านบาทนั้น ต้องดูว่าเป็นหนี้ส่วนที่ภาระผูกพันที่รัฐบาลสัญญาจะช่วยสนับสนุน รฟท.เท่าไร ซี่งเป็นหนี้บริการสาธารณะ หรือ PSO จำนวนมาก และที่เป็นภาระหนี้ของ รฟท.จริงๆ แค่ไหน ตรงนี้ต้องแยกบัญชีออกมาให้ชัดเจน จากนั้นจะนำไปหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
ส่วนการเพิ่มรายได้ ตนมองว่า รฟท.มีที่ดินและทรัพย์สินค่อนข้างมาก ต้องดูว่าที่ผ่านมามีประเด็นติดขัดอะไร และมีประเด็นอะไรบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
หรือ SRTA บริษัทลูก ยังทำงานติดขัดเป็นเพราะอะไร ปล่อยที่ดินที่มีศักยภาพหลายแปลงที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้จำนวนมาก เช่น ที่ดินแม่น้ำ บางซื่อ ซึ่งจะต้องเร่งศึกษารายละเอียดเป้าหมายอยากปลดหนี้ให้ รฟท. ส่วนจะได้แค่ไหนภายในเวลา 4 ปียังไม่สามารถบอกได้เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจน อาจจะไม่หมดทั้งก้อน แต่ต้องลดหนี้ลงได้แน่นอน
อีกเรื่องที่สำคัญ คือการให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ทางในการขนส่งมากขึ้น โดยจะเปิดให้เอกชนเช่าใช้ราง ต้องศึกษาว่ารูปแบบที่เหมาะสมและดีที่สุด และดำเนินการได้เร็วทำอย่างไร เนื่องจากขณะนี้มีเอกชนหลายรายเข้ามาเช่าใช้ราง ซึ่งจะต้องรอ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ...มีผลบังคับใช้ก่อน เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามกฎหมาย อะไรที่ทำได้ก็จะทำก่อน จะเร่งทำ เพราะไม่ว่าจะให้ใครมาใช้ราง จะเกิดเป็นรายได้ให้ รฟท.แน่นอน
นายวีริศกล่าวว่า เรื่องให้เอกชนเช่าราง ใช้ร่วมกับ รฟท.นั้น เชื่อว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับทรัพย์สิน ดังนั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.คงไม่ต่อต้าน ตนคิดว่าถ้าเป็นคนรถไฟ แล้วถ้าจู่ๆเอาของที่เรามีไปให้คนอื่นใช้ก็คงไม่ได้ แต่ต้องมาดูกันว่าถ้าให้ไปแล้วเกิดประโยชน์แล้วในส่วนของสหภาพฯ ได้ประโยชน์ร่วมด้วยหรือไม่ คนรถไฟได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งยืนยันว่าหากให้เอกชนเช่าใช้รางก็จะต้องไม่มากเกินไปจนถึงระดับที่ทำให้รถไฟเสียหาย
นายวีริศกล่าวถึงสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ว่า จากที่ได้ศึกษาข้อมูลมาเบื้องต้น ก่อนหน้านี้เคยขนส่งปริมาณถึง 2 ล้านทีอียูต่อปี ตอนนี้เหลือเพียง 1 ล้านทีอียูต่อปี ทำให้รายได้รถไฟหายไปด้วย ทำให้ผู้ขนส่งไปใช้รถยนต์ขนส่งแทน ไปสร้างปัญหาจราจรติดขัดบนถนนอีก ส่วนสัญญาสัมปทานใหม่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขัดปัญหา ซึ่งตรงนี้ก็จะเข้ามาดูเพื่อเร่งแก้ไข ซึ่ง รฟท.เองมีแผนที่จะพัฒนา ICD ให้เป็นศูนย์ขนส่งสินค้าทางราง และหากเดินหน้าได้ตามนั้นก็จะทำให้มีสินค้าหลายรายการเข้ามาที่ ICD เพิ่มขึ้น และจะช่วยทำให้เกิดรายได้แก่รถไฟมากขึ้น
นอกจากนี้ก็จะพัฒนาเรื่องรถไฟท่องเที่ยวให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพราะเป็นส่วนที่ทำให้มีรายได้เพิ่มอย่างชัดเจน ปัญหาที่ได้รับทราบคือมีปริมาณที่นั่งน้อย รองรับความต้องการของผู้โดยสารไม่เพียงพอ ประสบปัญหาจองตั๋วแล้วตั๋วเต็มตลอด
ที่ผ่านมาโครงข่ายรถไฟมีระยะทาง 4,044 กม. ครอบคลุม 47 จังหวัด มีการลงทุนรถไฟทางคู่ระยะแรก 5 โครงการ ระยะทางรวม 500 กม. ทำให้มีทางคู่เพิ่มขึ้น เป็น 1,243 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 โครงการ เตรียมก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 1 โครงการอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 6 โครงการ ระยะทางรวม 1,483 กม. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้มีทางคู่เพิ่มขึ้นเป็น 3,404 กม.