- • กรมเจ้าท่า ระดมกำลังช่วยเหลือประชาชนในพะเยาและหนองคาย
- • มีการจัดเตรียมรถ เรือ และเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
- • การช่วยเหลือดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง
- • มีชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือ มหาวิทยาลัยพะเยา หลังถูกน้ำป่าท่วมสูง 1-2 เมตร
คมนาคม สั่ง กรมเจ้าท่า ระดมเจ้าหน้าที่ พร้อมรถ เรือ สู่”พะเยา - หนองคาย” เร่งช่วยประชาชนที่ประสบอุทกภัยและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ช่วยมหาวิทยาลัยพะเยาหลังถูกน้ำป่าไหลท่วมสูงประมาณ 1- 2 เมตร
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ได้กำชับให้กรมเจ้าท่า (จท.) นำกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเรือท้องแบนพระราชทาน อุปกรณ์และยานพาหนะต่าง ๆ ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ให้บูรณาการ่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง มาตั้งแต่วันที่เกิดเหตุอุทุกภัยจนถึงวันนี้และยังคงให้ความช่วยเหลือต่อไปจนกว่าประชาชนในพื้นที่จะปลอดภัย
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วนจากสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 17 กันยายน 2567 เวลาประมาณ 02.00น. ถึง 04.00น. ได้เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากบริเวณฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยพะเยา บ้านแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำโดยมีน้ำท่วม ท่วมสูงประมาณ 1- 2 เมตร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงรายได้จัดชุดเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เร็ว ลงตรวจสอบพื้นที่ จำนวน 8 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมเจ้าท่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ 42 คน เรือ 5 ลำ รถ 9 คัน สามารถออกปฎิบัติงานในทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉินทางน้ำ หรืออุทกภัยในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก แพร่ และนครสวรรค์ เฝ้าระวังสถานการณ์และระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก
พร้อมกันนี้ศูนย์ฯ ได้นำกำลังพลชุดปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่ารวม 8 คน เรือเจ็ทสกี 3 ลำ รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 3 คัน เจ้าหน้าที่ถึงจังหวัดหนองคายพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 ในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ จังหวัดหนองคาย อุบลราชธานี นครราชสีมา นครพนม และขอนแก่น
ซึ่งในขณะนี้ สถานการณ์ระดับแม่น้ำโขง ที่จังหวัดหนองคาย สภาวะน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อการเกิดนํ้าท่วมฉับพลัน ขอให้ประชาชนอาศัยอยู่ในสถานที่ปลอดภัยและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมเจ้าท่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 ได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เรือตรวจการณ์ รถยนต์ และอุปกรณ์ช่วยชีวิต พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงหากมีการร้องขอความช่วยเหลือหรือได้รับแจ้งเหตุ
ในด้านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมเจ้าท่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 2 ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินทางน้ำในพื้นที่ ยังคงเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ 68 คน เรือ 12 ลำ รถ 17 คัน สามารถออกปฎิบัติงานในทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉินทางน้ำ หรืออุทกภัยในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ จังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี และนนทบุรี โดยเฝ้าระวังสถานการณ์และระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก สำหรับพื้นที่เฝ้าระวัง น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่น้ำล้นตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.บางไทร อ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย อำเภอเสนา มีน้ำล้นตลิ่ง (ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง) กรมเจ้าท่า ยังคงเตรียมความพร้อมของเรือ-รถ ให้พร้อมใช้งานในการช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้ ประชาชนที่พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง