- • พีระพันธุ์ (รมว.พลังงาน) และ เอกนัฏ (รมว.อุตสาหกรรม) ประชุมหารือเพื่อประสานความร่วมมือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด
- • ร่วมกันผลักดัน “นิคมฯ SME” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย
- • ขจัดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ
- • เชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันจะปฏิรูปอุตสาหกรรมได้สำเร็จ
“พีระพันธุ์” ถก “เอกนัฏ” ประสานความร่วมมือ 2 กระทรวง ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ดัน “นิคมฯ SME” ช่วยรายย่อย ขจัดกฎเกณฑ์อุปสรรค เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เชื่อมั่นจะปฏิรูปอุตสาหกรรมได้ลุล่วง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ว่า รองนายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดขั้นตอน สร้างความสะดวก คล่องตัวให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับธุรกิจให้เติบโต สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถเดินต่อและแข่งขันได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย
รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็กขึ้น (นิคมฯ SME) เพื่อช่วยลดต้นทุน สามารถส่งต่อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีทำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งการเร่งแก้กฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซี่งเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสีเขียว โดยได้มีการแก้กฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมที่กำหนดว่าหากมีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต โดยการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อยกระดับพลังงานไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ตอบสนองกติกาสากล ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล็อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ตอบโจทย์การประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยการปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา พร้อมวางแนวทางในการปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายแก้ช่องโหว่ในการส่งเสริมการประกอบการที่ดี การมีระบบ Digital แบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้ผู้ประกอบการ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคต สร้างความยั่งยืนและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเพิ่มเครื่องมือหนึ่งในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม