xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” หนุนคลังตั้งกองทุนรวมฯ ซื้อคืนรถไฟฟ้าแก้ปัญหายั่งยืน ดีเดย์ 20 บาททุกสาย ก.ย. 68 คาดชดเชยเอกชนปีละ 8 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • "สุริยะ" ยืนยันรถไฟฟ้า 20 บาท จะใช้ได้ทุกสายภายใน กันยายน 2568
  • • กระทรวงการคลังรับลูกนโยบายซื้อคืนสัมปทาน
  • • เร่งจ้างศึกษาและตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานแก้ปัญหาในระยะยาว
  • • หากไม่ทัน คมนาคมเตรียมตั้งกองทุนดึงรายได้ รฟม. ชดเชยเอกชน
  • • คาดใช้เงินปีละ 8 พันล้านบาท


“สุริยะ” ขยายผลรถไฟฟ้า 20 บาท การันตี ก.ย. 68 ใช้ได้ทุกสาย เผย "คลัง" รับลูกนโยบายซื้อคืนสัมปทานเร่งจ้างศึกษา ลุยตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานแก้ปัญหาระยะยาว หากไม่ทันคมนาคมจ่อตั้งกองทุนดึงรายได้ รฟม.ชดเชยเอกชนไปก่อน คาดใช้ปีละ 8 พันล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะเร่งขยายผลนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทาง (20 บาทตลอดสาย) ไปเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาล โดยยืนยันว่าจะเริ่มใช้ได้ทุกสายในเดือนก.ย. 2568 โดยให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ให้ประกาศใช้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

นอกจากนี้ยังเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม, เดินหน้ารถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูง ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2, แนวทางการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากถนนสู่ระบบราง, พัฒนาระบบรถไฟฟ้าในภูมิภาค เป็นต้น

ส่วนนโยบายซื้อคืนสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาลนั้น นายสุริยะกล่าวว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะต้องมีการระดมทุน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มีการชี้แจงไปบ้างแล้วว่ามีแนวคิดจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา ขณะที่กระทรวงคมนาคมจะร่วมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมกับคลัง ซึ่งเชื่อว่าหากมีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จะมีประชาชนสนใจเข้าซื้อกองทุนจำนวนมาก เพราะผลตอบแทนการลงทุนจะคุ้มทุน เนื่องจากกองทุนฯ จะมีการจัดรถยนต์ที่วิ่งเข้าเขตเมืองที่มีรถไฟฟ้าบริการ หรือ Congestion Charge เช่น ถนนสุขุมวิท หากรถยนต์ที่วิ่งเข้าไปในเขตนั้นก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังจะจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดทั้งหมด

นายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทาง ใช้ทุกสายในเดือน ก.ย. 2568 ส่วนทางคลังก็ดำเนินการศึกษาและดำเนินการเรื่องซื้อคืนสัมปทานแบบคู่ขนานกันไป ซึ่งหาก ก.คลังดำเนินการจััดตั้งกองทุนได้ก่อน ก.ย. 68 กระทรวงคมนาคมก็จะเข้าไปร่วมเพราะจะสามารถดำเนินนโยบายค่าโดยสารอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทางได้เลย แต่หากกองทุนฯ ซื้อคืนรถไฟฟ้าของ ก.คลังยังไม่เสร็จ ทางคมนาคมก็จะมีการดำเนินการรองรับไว้คือ จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่ออุดหนุนและชดเชยรายได้ให้เอกชน ซึ่งแหล่งเงินกองทุนจะมาจากรายได้สะสมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และขอสนับสนุนเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน หากไม่พอก็จะขอรับจัดสรรงบกลางมาช่วย

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ประเมินว่าหากเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดเส้นทาง จะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนทั้งโครงข่ายทุกสายประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะต้องบริหารจัดการกองทุนนี้ประมาณ 2 ปี รวมเป็นเงินชดเชยประมาณ 16,000 ล้านบาทระหว่างรอกระทรวงการคลังตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

“เรื่องเงินรายได้ของ รฟม.นั้นปัจจุบันมีสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่การจะนำมาใช้จะต้องดูรายละเอียดกันอีกที เพราะจะต้องไม่ให้กระทบการบริหารงานของ รฟม. ซึ่งอาจจะของบกลางช่วยด้วย ซึ่งการตั้งไว้ 2 ปีก่อน เพราะการอุดหนุนส่วนต่างรายได้จากการเก็บ 20 บาทตลอดสายคงทำได้ในระดับหนึ่ง ไม่ยั่งยืนแม้จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นแต่ก็จะอยู่ในระดับหนึ่งนอกจากนี้ การเดินรถจะต้องมีเรื่องซ่อมบำรุงและจัดซื้อรถเพิ่มเติม ดังนั้น กองทุนโครงสร้างพื้นฐานจะแก้ปัญหาระยะยาวที่ยั่งยืนกว่า การอุดหนุนอย่างเดียวไม่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากซื้อคืนรถไฟฟ้าแล้ว ยังเข้าไปช่วยลดค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนระบบอื่น เช่น รถเมล์ เรือโดยสาร จะอยู่ภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ด้วย”

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ เช่น สายสีน้ำตาล (ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ซึ่ง รฟม.ศึกษาเสร็จแล้วเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการ จะต้องหยุดรอการจัดตั้งกองทุนฯ หรือไม่อย่างไร นายสุริยะกล่าวว่า ไม่ต้องรอ โครงการสามารถเดินหน้าตามขั้นตอนได้เลย เพราะค่าโดยสาร 20 บาทสามารถปรับไปใช้ได้เลยภายใต้พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น