xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” แบ่งงานใหม่ ดึง "รฟท." จาก "สุรพงษ์" มาคุมเอง ชี้มีลงทุน "ทางคู่-ไฮสปีด" ต้องเร่งรัด จับตา ครม.พรุ่งนี้ ชงตั้ง "วีริศ" ผู้ว่าฯ คนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” เซ็นแบ่งงานใหม่ ดึง "รฟท." คุมเอง ชี้มีลงทุน "ทางคู่-ไฮสปีด" ต้องเร่งรัด “สุรพงษ์” คุม 7 หน่วย "ขนส่งทางราง และทางบก ส่วน ”มนพร” ดูแลทางน้ำ และทางอากาศ โดยสลับงานเดิม ขสมก.ให้ "สุรพงษ์" จับตาชง ครม.แต่งตั้งผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่เพื่อเดินหน้าประมูลเมกะโปรเจกต์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 1047/2567 เรื่องมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยให้นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 6 หน่วยงาน ดังนี้ 1. กรมเจ้าท่า (จท.) 2. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 5. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และ 6. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.)

ให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 หน่วยงาน ดังนี้ 1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 5. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 6. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.) 7. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)

สำหรับหน่วยงานที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดูแลโดยตรง มีจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย 1. สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 2. กรมทางหลวง (ทล.) 3. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 4. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 5. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 6. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. 7. บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) 8. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ 9. บจ.ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะกล่าวว่า การแบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยฯ 2 คนใหม่เพื่อให้กำกับดูแลหน่วยงานที่เชื่อมโยงกัน เช่น รมช.มนพร ให้ดูแล หน่วยงานทางน้ำ คือ กรมเจ้าท่า การท่าเรือฯ และทางอากาศ มีกรมท่าอากาศยานและวิทยุการบินฯ เพื่อให้เชื่อมโยงทางน้ำ และทางอากาศ ส่วน รมช.สุรพงษ์ ก็ให้ดูแลงานทางบก ทั้งกรมการขนส่งฯ  บขส.และ ขสมก.ในกลุ่มเดียวกัน

นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนการรถไฟฯ ที่เดิมมอบหมายให้นายสุรพงษ์กำกับดูแล แต่ที่ตนได้ขอนำกลับมากำกับดูแลเองเพราะขณะนี้ประเทศไทยเน้นระบบรางและการรถไฟฯ มีแผนการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งมีเรื่องเร่งด่วนคือ ต้องเร่งรัดติดตามงานก่อสร้างให้เป็นไปตามกำหนดเวลา อีกทั้ง จะมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ที่จะมีการผลักดันเร่งรัดเสนอคณะรัฐนตรี โดยรัฐบาลจะเร่งลงทุนงานโยธา ส่วนระบบและตัวรถจะใช้รูปแบบร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการจัดซื้อและให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง

อีกทั้งในปี 2568 จะครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ซึ่งทางจีนให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ดังนั้นก็ต้องมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าไปตามนโยบาย

@จับตา ครม.พรุ่งนี้ (17 ก.ย. 67) ชง ครม.แต่งตั้งผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่เพื่อเดินหน้าประมูลเมกะโปรเจกต์

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย. 67 คาดว่าอาจจะมีการเสนอผลการสรรหาผู้ว่าการรฟท.คนใหม่เข้าสู่ที่ประชุม ครม. มีนายวีริศ อัมระปาล เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ ซึ่งนายวีริศเป็นอดีตผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในสมัยที่นายสุริยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงถือเป็นคนคุ้นเคยที่คาดว่าเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่จะรับนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ดังกล่าวให้เดินหน้าโดยเร็ว

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ ในคำสั่งดังกล่าว ระบุกรณีการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตามที่ได้รับมอบหมายในกรณีต่อไปนี้ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการคมนาคม วินิจฉัยสั่งการ คือ เรื่องที่มีลักษณะเป็นงานนโยบาย และการบริหารงานบุคคล, เรื่องที่ต้องเสนอนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี, เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือกรรมการของรัฐวิสาหกิจ

กรณีให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือหน่วยงานเจ้าของเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการฯ วินิจฉัยโดยตรง คือการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของหน่วยงาน, การดำเนินโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 ล้านบาท, การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม, การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดโครงสร้างค่าโดยสารร่วมในเขต กทม.เพื่อรองรับนโยบาย, ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย






กำลังโหลดความคิดเห็น