- • สมุยฟื้นตัวเร็วกว่าคาด: คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินจะเติบโตเกินกว่าปี 62 ถึง 11% ในปี 67
- • บางกอกแอร์เวย์สทุ่ม 1.5 พันล้านบาทพัฒนาสนามบินสมุย: เพื่อรองรับผู้โดยสาร 6 ล้านคนต่อปี และยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของอ่าวไทย
- • พัฒนาสนามบินตราด: ลงทุน 800 ล้านบาท ขยายรันเวย์ เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ
บางกอกแอร์เวย์ส เผย”สนามบินสมุย”ฟื้นเร็ว ปี 67 ยอดผู้โดยสาร -เที่ยวบินโตเกินกว่าปี 62 ถึง 11% เตรียมทุ่ม 1,500 ล้านบาท ขยายศักยภาพรับ 6 ล้านคน/ปีดันสู่ “Tourism Hub” อ่าวไทย และพัฒนาสนามบินตราด -ขยายรันเวย์อีก 800 ล้านบาทเพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA (สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส) เปิดเผยว่า จากภาพรวมของทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นบวกได้ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 2567 นี้ บริษัทฯ ขนส่งผู้โดยสารจำนวนทั้งสิ้น 2.26 ล้านคนปรับตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา 11% แต่ยังคงน้อยกว่าช่วงพรีโควิด (ปี 2562 ) ประมาณ 25% โดยมีจำนวนเที่ยวบินรวม 24,314 เที่ยวบิน ปรับตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรกของปี 2566 เท่ากับ 11% มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วย (Passenger Yield) 6.59 บาท ปรับตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา 13% ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงก่อนโควิดหรือประมาณปี 2562 ประมาณ 49% ในขณะที่มีปริมาณการบรรทุก (Load Factor) เท่ากับ 83% ปรับตัวดีขึ้น 13 % จากช่วงก่อนโควิด
“บริษัทฯ มั่นใจสำหรับเป้าหมายผลการดำเนินงานตลอดปี 2567 นี้ หรือมีรายได้กลับไปอยู่ที่ประมาณ 70% ของรายได้ในปี 2562 โดยจะสามารถดำเนินงานได้ตามที่คาดการณ์ มีจำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน ในสัดส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ย 85% จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) 17,800 ล้านบาท”
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวเดินทางในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจโดยมีปัจจัยจากสถิติการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าของบางกอกแอร์เวย์สที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการเติบโตกว่า 12% จากปี 2566 ซึ่งมีการจองต่อเนื่องตลอดถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งการต่อเนื่องตลอดถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568
@”สมุย”ฟื้นเร็ว ปี 67 เติบโตสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ถึง 11% แล้ว
เส้นทางสมุย เป็นเส้นทางสำคัญที่ทำรายได้ให้กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 มีจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยเฉลี่ยวันละ 41 เที่ยวบินทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมทุกสายการบิน และบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารในเส้นทางสมุยประมาณ 70% และมีสัดส่วนจำนวนเที่ยวบินประมาณ 60%
โดยจำนวนผู้โดยสารของสนามบินสมุย ใน ไตรมาส 2 ปี 67 เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 66 ประมาณ 15% และในรอบ 6 เดือนแรกปี 67 เทียบกับ 6 เดือนแรกปี 66 เติบโตประมาณ 22% และ หากเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) เติบโตมากกว่า 11% ส่วนปริมาณเที่ยวบิน ไตรมาส 2 ปี 67 เติบโตจากช่วงเดียวกัน ปี 66 ประมาณ 13%
ปัจจุบัน สนามบินสมุยให้บริการ 11 เส้นทางบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอีกทั้งยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 มีจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยเฉลี่ยวันละ 41 เที่ยวบินทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมทุกสายการบิน มีจำนวนผู้โดยสารรวมทุกสายการบินกว่า 1.4 ล้านคน เติบโตขึ้น 22% จากปี 2566และเติบโตขึ้นจากช่วงพรีโควิด 11% ในจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 14,983 เที่ยวบินและบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารในเส้นทางสมุยประมาณ 70% และมีสัดส่วนจำนวนเที่ยวบินประมาณ 60%
@ ทุ่ม1,500 ล้านบาท ขยายศักยภาพรับ 6 ล้านคน/ปี
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า เพื่อผลักดันอ่าวไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) บริษัทฯจึงเตรียมเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินสมุยเพื่อขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางบินจากสนามบินสมุยไปยังต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง จีน และสิงคโปร์โดยมีแผนการเพิ่มเที่ยวบิน เข้า – ออก สนามบินสมุยจาก 50 เที่ยวบินเพิ่มเป็นเป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน
นอกจากนี้ มีแผนปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารจากเดิม 7 อาคารเพิ่มเป็น 11 อาคาร แผนการขยายจำนวนเคาน์เตอร์เช็คอินเพิ่มอีก 10 เคาน์เตอร์ พร้อมทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารโดยจะติดตั้งระบบ CUSS : Common Use Self-Service พร้อมกันนี้ยังรวมถึงแผนการก่อสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์ จากปัจจุบันที่มี 1,800 ตร.ม. เพิ่มเป็น 4,000 ตร.ม. ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการสำหรับร้านค้าชั้นนำ สินค้าของฝากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน คาเฟ่-ร้านอาหาร รวมถึงสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
คาดว่า จะเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะใช้งบประมาณการลงทุนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส1 - ไตรมาส 2 ปี 2568 ใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงประมาณ 3 ปี หรือ เสร็จในปี 2570 โดยประเมินว่า ช่วงนั้น จะมีผู้โดยสารประมาณ 4 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันที่มีประมาณ 2 ล้านคนต่อปี
@จัดงบอีก 800 ล้านบาท พัฒนาสนามบินตราด -ขยายรันเวย์
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 บริษัทฯมีแผนที่จะเสริมศักยภาพสนามบินตราด ซึ่งเป็นสนามบินสาธารณะแห่งที่ 3 ภายใต้การบริหารงานของบริษัทฯ โดยมีแผนการดำเนินงานด้านการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและแผนการขยายรันเวย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับเครื่องบินประเภทไอพ่นขนาดเล็ก จากเดิม 1,800 เมตรเพิ่มเป็น 2,100 เมตรในงบการลงทุนมูลค่า 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการบิน บริษัทฯ จึงเดินหน้าเชื่อมโยงสายการบินพันธมิตรเชิงกลยุทธ์โดยปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตรแบบข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบCodeshare รวมทั้งสิ้น 30 สายการบิน โดยสายการบินพันธมิตรล่าสุด ได้แก่ สายการบินลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa) และสายการบินสวิสอินเตอร์แนชนัลแอร์ไลน์ (Swiss International Airlines) ซึ่งเมื่อรวมกับสายการบินออสเตรียนแอร์ไลน์ (Austrian Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินพันธมิตรแบบข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Codeshare ตั้งแต่ปี 2559 ถือว่าบริษัทฯ มีสายการบินพันธมิตรที่อยู่ในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa Group) ถึง 3 สายการบินด้วยกัน พร้อมกันนี้บริษัทฯยังมีพันธมิตรสายการบินข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Interline มากกว่า 70 สายการบิน
“บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพโดยปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีฝูงบินทั้งสิ้น จำนวน 23 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินไอพ่นแอร์บัส เอ320 จำนวน 2 ลำ แอร์บัส เอ 319 จำนวน 11 ลำ และเครื่องบินใบพัดเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 10 ลำ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 นี้จะสามารถจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 2 ลำสำหรับเครื่องบินประเภท แอร์บัส เอ 319ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาเงื่อนไขของการรับมอบเครื่องบินซึ่งหากเป็นไปตามแผนการดังกล่าวก็จะสามารถให้บริการเครื่องบินเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 25 ลำ และบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะออกร่างข้อเสนอ (RFP)เพื่อที่จะทำการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงประเภทฝูงบินในอนาคตอีกด้วย”